ช่วงนี้ไม่ว่าแอดมินจะหาข่าวหรือบทความอ่านจากแหล่งใดก็ตาม ล้วนมีแต่เรื่องการระบาดของ COVID-19 เมื่อติดตามจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ชวนให้สงสัยว่าเมื่อไหร่การระบาดจะจบลง
การระบาดของไวรัสในอดีตล้วนมีจุดเริ่มต้น ช่วงแพร่ระบาดอย่างหนัก และจุดจบ เป็นธรรมดา มีวงรอบระยะสั้นและยาวต่างกันไป นี่คือ เรื่องราวโดยสรุปที่อาจทำให้เรามองเห็นแนวโน้มและความหวังได้บ้างว่าเมื่อไหร่ COVID-19 จะสิ้นสุดการระบาดได้เสียที
การระบาดของ Zika
ในปี ค.ศ. 1952 ไวรัส Zika ถูกพบในมนุษย์เป็นครั้งแรกในประเทศยูกันดา (Uganda) และทานซาเนีย (Tanzania) ก่อนที่จะแพร่ไปยังดินแดนตะวันตก – สหรัฐอเมริกา ผ่านบราซิล และประเทศอื่น ๆ โดยมียุงเป็นพาหะนำเชื้อ
ในปี ค.ศ. 2016 ยังคงมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่มากถึง 5,000 รายในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะลดลงในปี ค.ศ. 2017 จนกระทั่งไม่มีรายงานผู้ติดเชื้ออีกเลยในปี ค.ศ. 2018 (ตามรายงานของ CDC ของสหรัฐฯ)
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโดยปกติแล้วโรคร้ายเหล่านี้จะหายไปเนื่องจากประชากรเริ่มมีภูมิคุ้มกัน (Herd Immunity) ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง และหายไปในที่สุด (ไม่มีรายงานตรวจพบ)
อะไรคือภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)
ภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นรูปแบบหนึ่งของการป้องกันหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลไกป้องกันการติดต่อของโรคในประชากร โดยไม่ใช่การป้องกันโรคผ่านภูมิคุ้มกันโดยตรง กล่าวสรุปจากรูปข้างต้นได้ว่า
- มีการติดต่อของโรคในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน (ม่วง > แดง)
- เมื่อประชากรบางส่วนมีภูมิคุ้มกัน จะทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อในประชากรน้อยลง (สีเหลือง = เมื่อมีบางคนมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น)
- เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น (สัดส่วนสีเหลืองมากขึ้น) จะทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อลง (แดงน้อยลง) จนภาพรวมกล่าวได้ว่าภูมิคุ้มหมู่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประชากรหมู่มากได้
หรือพูดง่าย ๆ ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลู่เข้าหาค่าคงที่ หรือไม่มีการติดเพิ่มไปกว่าเดิม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มต่อโรค
การระบาดของ Ebola
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส Ebola จะมีอาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ท้องร่วง อาเจียนเป็นเลือด มีรอยช้ำตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ (ปกติ รอยช้ำมักเกิดจากผิวหนังได้รับแรงกระแทก)
Ebola ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1976 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน แต่การแพร่ระบาดอย่างหนักเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2013 โดยมีจุดเริ่มต้นหลัก ๆ ในประเทศกินี และยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนสะสมมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 และยุติการระบาดในปี ค.ศ. 2016 (ไม่มีรายงานแจ้งเพิ่มเติม ตามรายงานของ WHO)
การหยุดระบาดของ Ebola เกิดจากการป้องกันโดยตั้งใจของมนุษย์ (Human Intervention) เป็นสำคัญ โดยระหว่างปี ค.ศ. 2014 หน่วยงานรัฐบาลกลางในหลาย ๆ ประเทศมีการคัดกรองการเดินทางที่ดีและมีความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้การระบาดสิ้นสุดลงในช่วงเดือนธันวาคม 2015 – มกราคม 2016 บางประเทศการระบาดสิ้นสุดลงตั้งแต่ในปี ค.ศ. 2014 เช่น สเปน เซเนกัล
รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 28,646 ราย เสียชีวิต 11,323 ราย หรือมีอัตราเสียชีวิตครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว (ตัวเลข ณ วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2016)
การระบาดของไข้หวัดหมู (H1N1/09)
ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2009 ไข้หวัดชนิดนี้ได้ระบาดครั้งแรกในเมือง Veracruz ประเทศเม็กซิโก สำนักงานข่าวท้องถิ่นเรียกว่า “Mexican Virus” ชาวเกาหลีใต้เรียกว่า “SI” ย่อมาจาก “Swine Influenze” ไต้หวันเรียก “H1N1 flu” ในขณะที่ WHO ได้ตั้งชื่อว่า “North American Influenze”
มีการประมาณผู้ติดเชื้ออย่างต่ำอยู่ที่ 6.8 พันล้านกว่าราย คิดเป็น 10 – 20% ของจำนวนประชากร ณ ช่วงเวลานั้น จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณในช่วง 150,000 – 575,000 ราย อัตราการเสียชีวิตประมาณ 0.026% ถือว่าจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยมากเมื่อเทียบกับการระบาดของไขหวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918 ซึ่งมีติดเชื้อกว่า 500 ล้านราย ผู้เสียชีวิตประมาณ 17 – 50 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 2.5% (มักนำไปเปรียบเทียบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจากการทำสงครามโลกครั้งที่ 2)
จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2010 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการหยุดระบาดของไข้หวัดหมูอย่างเป็นทางการ
สาเหตุที่ทำให้ควบคุมการระบาดถูกควบคุมได้ภายใน 1 ปี เนื่องจากสามารถผลิตวัคซีนได้ทันท่วงที ตามข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าการได้รับวัคซีนเพียง 1 โดสก็เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้ภายใน 10 วัน ช่วยลดโอกาสการระบาดได้เป็นอย่างดี
การระบาดของ SARS
โรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลันหรือ SARS มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดหนึ่ง ถูกตรวจพบเจอครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002
อาการในภาพรวมคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 10% ระบาดหนักในช่วง ปี ค.ศ. 2003 รวมจำนวนผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกคิดเป็น 26 ประเทศ ประมาณ 8,000 ราย เสียชีวิต 774 ราย
หนึ่งปีถัดมาก็ไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ในปี ค.ศ. 2017 นักวิทยาศาสตร์จีนได้ศึกษาจนพบว่าสัตว์ตัวกลางที่นำเชื้อโรคมาสู่คนอาจมาจากตัวชะมด โดยเฉพาะค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำมณฑลยูนนาน เมื่อติดเชื้ออยู่ในร่างกายมนุษย์จะมีระยะฟักตัวประมาณ 4-6 วันโดยเฉลี่ยก่อนแสดงอาการ เคยมีรายงานว่าสามารถแสดงอาการได้ภายใน 1 วัน ซึ่งถือว่ากินระยะเวลาสั้นมาก
ในอดีตประเทศไทยเคยมีผู้ติดเชื้อ SARS 9 คน เสียชีวิต 2 คน ขณะนั้นไม่มีวัคซีนใช้สำหรับรักษา แต่จะอาศัยการรักษาตามอาการควบคู่กับการควบคุมโรค
สรุปภาพรวม
จะเห็นว่าการระบาดบางโรคถูกจำกัดหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้โดยการใช้วัคซีนที่ผลิตได้ทันท่วงที ในขณะที่บางเคสไม่มีวัคซีนด้วยซ้ำ แต่โรคระบาดจากไวรัสก็หายไปโดยประชากรมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หรือบางเคสเกิดจากความร่วมมือและความกวดขันของรัฐบาลกลางต่าง ๆ ที่ช่วยควบคุมโรคได้อย่างอยู่หมัด
ดังนั้นเมื่อเกิดโรคระบาดธรรมชาติจะมีวิธีปรับตัวด้วยส่วนหนึ่ง ในขณะที่มนุษย์อย่างเราก็อาศัยภูมิปัญญาในการควบคุมการระบาดด้วยอีกส่วนหนึ่ง สำหรับ COVID-19 อาจมีจุดจบเช่นเดียวกับโรคระบาดต่าง ๆ ที่ผ่านมา กล่าวคือ เราอาจมีภูมิคุ้มกันหมู่กันมากขึ้น ไม่ก็ผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้ทันใช้ก่อนแพร่กระจายในวงกว้าง (Pandemic)