ปริศนานี้สร้างความสนใจใคร่รู้ในการไขคำตอบให้กับเหล่านักวิจัยทางดาราศาสตร์มาอย่างยาวนาน
นักวิจัยจากสมาคมวิจัยอวกาศในความร่วมมือกันของวิทยาลัยกว่า 105 แห่ง (Universities Space Research Association) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงวอชิงตันดีซี และความร่วมมือจากนักวิจัยในโครงการ SOFIA – ซึ่งใช้อากาศยานที่ดัดแปลงติดตั้งกล้องโทรทรรศน์บินเพื่อเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ในชั้นบรรยากาศระดับสูง โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง NASA และศูนย์การบินและอวกาศของเยอรมัน (DLR)
ข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่าสนามแม่เหล็กมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก (Strong role) ในการปรับเปลี่ยนรูปทรงของกาแล็กซี
ดร. Enrique Lopez-Rodriguez นักวิจัยจาก SOFIA กล่าวว่า
“ถึงแม้สนามแม่เหล็กจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มันมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของกาแล็กซีทั้งมวล ปัจจุบันเราเข้าใจบทบาทของสนามโน้มถ่วงที่มีผลต่อรูปทรงกาแล็กซี แต่เราพึ่งเรียนรู้ว่าสนามแม่เหล็กก็เข้ามามีบทบาทอีกด้วย”
ทฤษฎีคลื่นความหนาแน่น (Density Wave Theory)
“ทฤษฎีคลื่นความหนาแน่น (Density Wave Theory)” เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกยกนำมาอธิบายการเกิดคานของกาแล็กซีแบบก้นหอย
โดยมีแนวคิดว่าสนามแม่เหล็กในกาแล็กซีแบบก้นหอยมีคาน มีการสะสมและการบีบอัดของสนามแม่เหล็ก (Compressing the magnetic field) อีกทั้งสนามโน้มถ่วงก็ทำงานควบคู่ในบทบาทของมัน ส่งผลให้เกิดการบีบอัดก่อร่างเป็นคานของกาแล็กซี
นักวิจัยเจาะจงวัดสนามแม่เหล็กตามความยาวของคานกาแล็กซี NGC 1068 และ M77 ซึ่งเป็นกาแล็กซีที่เชื่อว่ามีรูปทรงเหมือนกาแล็กซีของเรา โดยใช้กล้องอินฟราเรดที่ติดบนอากาศยานของโครงการ SOFIA พบว่าเส้นสนามแม่เหล็กเรียงตัวตามคานดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีคลื่นความหนาแน่นได้เป็นอย่างดี
Lopez-Rodriquez กล่าวว่า
“นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เราเห็นการเรียงตัวของสนามแม่เหล็กอย่างชัดเจนในระดับมหภาคตามแนวยาวของคานกาแล็กซีซึ่งบริเวณที่เต็มไปด้วยดาวฤกษ์เกิดใหม่”
“และเป็นที่น่าตื่นเต้นว่าหลักฐานจากการสังเกตจาก SOFIA สอดคล้องกับทฤษฎี”
ทั้งนี้กาแล็กซี M77 อยู่ห่างจากโลกไป 47 ปีแสงในกลุ่มดาว Cetus ณ ใจกลางกาแล็กซี M77 มีหลุมดำมวลยิ่งยวด ซึ่งมีขนาดเป็น 2 เท่าของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] How does our Milky Way galaxy get its spiral form?. phys.org, 2019 : https://phys.org/news/2019-12-milky-galaxy-spiral.html
[2] Milky Way. wiki, 2019 : https://en.wikipedia.org/wiki/Milky_Way
[3] Barred spiral galaxy. wiki, 2019 : https://en.wikipedia.org/wiki/Barred_spiral_galaxy
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys