สมมติว่าคุณไม่ได้สตาร์ทรถยนต์เป็นเวลากว่า 10 ปี แน่นอนว่าเครื่องยนต์คงไม่ตอบสนองหรือติดขึ้นมาได้แน่ๆ แต่สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนยานสำรวจอวกาศ วอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) ที่ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์ส่งไปได้กว่า 40 ปี ณ ปัจจุบันยังคงทำงานได้ดี โดยล่าสุดเครื่องยนต์มีการตอบสนองและส่งสัญญาณมายังโลกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ยานวอยเอเจอร์ 1 เป็นยานสำรวจอวกาศที่นาซ่าส่งไปได้ไกลที่สุด ณ ตอนนี้มันอยู่นอกระบบสุริยะของเราไปแล้ว และได้เข้าสู่ดินแดนที่เรียกว่า “Interstellar space” หรือ “อวกาศระหว่างดวงดาว” ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กัน เช่น ระหว่างดวงอาทิตย์ของเรา กับดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ สาเหตุที่นาซ่าส่งสัญญาณวิทยุไปปลุกให้วอยเอเจอร์ 1 สตาร์ทเครื่องยนต์อีกรอบ เพื่อปรับทิศทางจานและเสาส่งสัญญาณ (Antenna) ให้กลับมายัังโลกได้อย่างแม่นยำที่สุด (เรายังคงบังคับมันได้ แต่กว่าสัญญาณจะเคลื่อนไปถึงและกลับมา ยังต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง)
Suzanne Dodd ผู้จัดการโครงการ Voyager 1 ของนาซ่า (NASA) ได้กล่าวว่า
เครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัวยังคงทำงานได้ดี นี่จะช่วยยืดระยะเวลาการสำรวจของวอยเอเจอร์ 1 ไปอีก 2 – 3 ปีเลยทีเดียว
ตั้งแต่ปี 2004 วิศวกรได้ตั้งข้อสังเกตว่าตัวจุดขับดันหรือ Thruster ของยานวอยเอเจอร์ 1 เริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ยานอาจไม่สามารถปรับตำแหน่งทิศทางได้ดีกว่าเดิม ลองคิดสภาพว่ายานอยู่ห่างจากโลก 13 พันล้านไมลค์ แถมไม่มีร้านขายอะไหล่ซ่อมบำรุงอยู่ใกล้ๆ การสำรวจนี้เลยขึ้นอยู่กับเวลาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ภารกิจของยานวอยเอเจอร์ 1 คือ การสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวบริวารของดาวเคราะห์ทั้งหลาย ขณะที่มันบินผ่านดาวเสาร์ ได้เร่งความเร็วโดยใช้ความโน้มถ่วงของดาวเสาร์ สร้างความเร็วมหาศาลดีดตัวออกจากดาวเสาร์ โดยไม่ต้องใช้ตัวจุดขับดัน (Thruster) (เรียกวิธีการเร่งความเร็วของยานอวกาศโดยการใช้แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์เป็นตัวช่วย ว่า Slingshot) และเก็บเชื้อเพลิงไว้ใช้ยามจำเป็นเท่านั้น
ยานวอยเอเจอร์ 2 ก็เป็นยานอวกาศอีกลำของนาซ่าที่ส่งออกไปนอกระบบสุริยะ และทีมควบคุมก็มีแผนจะทดสอบ Thruster เหมือนยานวอยเอเจอร์ 1 เช่นกัน ทั้งนี้ยานวอยเอเจอร์ 2 ส่งไปก่อนวอยเอเจอร์ 1 เพียงระยะเวลาก่อน 1 เดือน แต่ยังคงเดินทางไม่ไกลเท่าวอยเอเจอร์ 1 และอีก 2-3 ปี ยานวอยเจอร์ 2 จะเริ่มเข้าสู่บริเวณอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) เช่นเดียวกับยานแฝดของมัน
- ติดตามตำแหน่งและสภาพยานวอยเอเจอร์ทั้งสองตัวได้ที่ – Voyager Mission
เกร็ดความรู้
ตัวจุดขับดันหรือ Thruster มีด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ
- ตัวขับดันที่สร้างความเร็วในการเคลื่อนที่ – จะเป็น Thruster ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเร็วในการเคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว
- ตัวขับดันปรับตำแหน่งและสมดุลของยาน (Attitude Control Thruster) – หากเราต้องการหมุนรอบตัวเอง เราสามารถใช้ขาดีดกับพื้นได้ แต่ยานอวกาศไม่มีขาและพื้น ดังนั้นตัวจุดขับดัน Thruster ประเภทนี้จะติดบริเวณขอบนอกของยาน เพื่อสร้างการหมุนและปรับสมดุลให้กับยาน
Read Original Article and More Detail & Media
“Voyager 1 Fires Up Thrusters After 37 Years.”. [Online]. via : NASA 2017.