มีหลายโรงเรียนในต่างประเทศที่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท โดยใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เช่น บทเรียนออนไลน์, ครูผู้สอนออนไลน์ หรือระบบการบ้านออนไลน์ และเริ่มมีการพัฒนาเป็นโรงเรียนเสมือนจริงแบบเต็มขั้น ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนถูกตั้งคำถามว่ายังมีความจำเป็นอีกหรือไม่
ความเป็นมาของแนวคิด Virtual School
กลางปีคริสต์ศักราช 1990 แนวคิดในการเปลี่ยนการศึกษาแผนใหม่ โดยนำขึ้นสู่ระบบอินเตอร์เน็ต เริ่มเกิดขึ้นในหลายๆประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อเมริกาเหนือ และสหราชอาณาจักร โดยมักจะพบได้ในพื้นที่ที่การศึกษาแผนเก่าไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และค่าเรียนต่อหัวนั้นสูงมาก
ปี 2008 พบว่าอัตราการออกกลางคันเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์เริ่มเป็นปัจจัยที่แพร่หลายและเอื้อต่อการศึกษา และถูกยกเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน อาจตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการเรียนรู้
บางครั้งการเรียนการสอนแบบ Virtual School ก็ถูกเรียกว่า “Distance Learning” หรือ “การศึกษาทางไกล” เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ต้องการเรียนภายในชุมชนของตัวเอง หรือยากต่อการเข้าถึงของภาครัฐ ดั้งเดิมการศึกษาทางไกลแบบนี้ใช้วิธีการสื่อสารส่ง – ตอบการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนผ่านจดหมายเป็นหลัก ต่อมาพัฒนาเป็นคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ดาวเทียม นักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้ ในบางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการวัดประเมินผลการเรียนรู้อีกด้วย
ปัจจุบันเราสามารถพบ Virtual School ได้จากทุกที่บนโลก และในหลายประเทศเริ่มมีบทเรียนออนไลน์ที่เปิดอย่างสาธารณะและเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะแคนนาดา และสหรัฐที่เป็นประเทศแรกๆที่นักเรียนสามารถเรียนรู้จากที่บ้าน ทำแลป แบบฝึกหัด เรียนคอร์สออนไลน์ ดังนั้น Virtual School จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ออนไลน์สำหรับทุกคน
ราคาและสถานที่เรียน
แน่นอนว่ารูปแบบการศึกษาแบบ Virtual School นั้น นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเรียนได้จากที่บ้าน เพราะมีแหล่งการเรียนรู้ครบอยู่บนอินเตอร์เน็ตหรือซอฟแวร์ที่รัฐสร้างขึ้นโดยไม่ผ่านผู้ให้บริการภายนอกที่หวังผลกำไรจากการทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ต่ำมาก เนื่องด้วยไม่ต้องใช้งบประมาณไปกับการจ้างบุคคลดูแลมากนัก
การเรียนรู้และหลักประกันการเรียนรู้
ด้วยแหล่งการเรียนรู้อยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นห้องสมุด ความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูลจะง่ายและเฉพาะเจาะจงกว่าหนังสือ เพราะเราสามารถค้นหาได้ง่ายด้วยการพิมพ์คีย์เวิร์ดแทนที่จะเปิดหนังสือกวาดหาข้อมูลที่ต้องการ และคอร์สออนไลน์ส่วนใหญ่ที่เปิดสอนก็ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ยกเว้นแต่ผู้เรียนต้องการใบรับรองผลการเรียนรู้ เช่น Certificate เป็นต้น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ก็ไม่มาก แถมเป็นหลักประกันการเรียนรู้ของตนเอง
ข้อดีข้อเสียของการจัดการศึกษา Virtual School
ข้อดี
1. เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นสูง ตามความสนใจของผู้เรียน
2. ค่าใช้จ่ายต่ำ
3. นักเรียนในบางประเทศส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการเรียนรู้ไปกับการหาอาชีพเสริม (Part-time) ซึ่งได้มีโอกาสเรียนรู้ในการใช้ชีวิต
4. แหล่งการเรียนรู้มีความหลากหลาย
ข้อด้อย
ส่วนใหญ่แล้วการจัดการศึกษาแบบ Virtual School มักได้รับข้อท้วงติงในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู หรือการเข้าสังคม เพราะโอกาสที่นักเรียนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมจะน้อยกว่าการจัดการศึกษาแบบดั้งเดิม อีกทั้งส่งผลกระทบต่ออาชีพครู ซึ่งเป็นการลดบทบาทของคุณครูลงอีกด้วย
สถานศึกษาและผู้ให้บริการการศึกษา (ครู) อาจถูกลดบทบาทลง
ในต่างประเทศการเปิดโอกาสการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ตามค่านิยมของคนในโลกออนไลน์ที่มักต้องการความสะดวกสบายไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าบริการต่างๆ เพราะทำได้ง่ายสะดวก และไม่ต้องเดินทาง จึงเป็นที่นิยมแม้กระทั่งครอบครัวที่มีฐานะการเงินสูง ไม่จำกัดแค่ผู้ที่ต้องการการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลจากการบริการการศึกษาแบบดั้งเดิม ดังนั้นแนวโน้มในอนาคต จำนวนโรงเรียนอาจน้อยลง ผู้ให้บริการทางการศึกษาอย่างคุณครูก็ถูกจ้างงานน้อยลง รัฐทุ่มเงินไปกับการบริการทางการศึกษาบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
Read Original Article and More Detail & Media
“Virtual school.“. [Online]. via : wiki 2016.
“VIRTUAL SCHOOL.“. [Online]. via : eszett-bls.com 2016.
“9 educational technology trends that will rule in 2016.”. [Online]. via : linkedin.com/pulse 2016.
“Virtual Charter Schools: Pros and Cons of the Growing Trend.”. [Online]. via : publicschoolreview.com/blog 2016.