ทีมนักดาราศาสตร์จาก ESO ใช้กล้องโทรทรรศน์ภาพพื้นดินขนาดใหญ่ หรือรู้จักกันในชื่อ Very Large Telescope และระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ศึกษาวิวัฒนาการของระบบดาวฤกษ์สามดวง GW Orionis ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 1,300 ปีแสง
ระบบดาวฤกษ์สามดวงดังกล่าวกำลังรบกวนและทำลายการก่อตัวของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด (Protoplanetary Disk) ซึ่งเป็นแก๊สและมวลสารที่กำลังโคจรล้อมรอบระบบดาวฤกษ์
โดยปกติโมเดลที่ใช้อธิบายการก่อตัวของดาวเคราะห์ จะเสนอว่าดาวเคราะห์ทั้งหลายเกิดจากการรวมตัวของมวลสารภายใน Protoplanetary Disk จนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนท้ายที่สุดก่อตัวกลายเป็นดาวเคราะห์ และจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดมักมีระนาบของจานอยู่ในระนาบหนึ่งคงที่เสมอ
ปรากฏการณ์ฉีกขาดของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด
แต่ก็มีนักดาราศาสตร์เสนอทฤษฎีว่า “เป็นไปได้ที่การก่อตัวของดาวเคราะห์อาจถูกชะลอให้ช้าและยาวนานขึ้น” หากมีการรบกวนจากความโน้มถ่วงจากระบบดาวฤกษ์สามดวง เรียกทฤษฎีที่จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดถูกก่อกวนหรือถูกทำลายขณะโคจรรอบระบบดาวฤกษ์นี้ว่า “Disc-tearing effect” – ปรากฏการณ์ฉีกขาดของจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด
จนกระทั่งปัจจุบันพบภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
นักดาราศาสตร์ศึกษาระบบดาวฤกษ์ GW Orionis ตั้งแต่ 11 ปีก่อน โดยใช้เครื่องมือ AMBER และ GRAVITY วิเคราะห์ข้อมูลเชิงแสงที่รวบรวมมาได้ เพื่อดูความแปรปรวนของความโน้มถ่วงในระบบดาวฤกษ์ (หรือเรียกว่า Gravitational Dance : มองการโคจรของระบบดาวฤกษ์สามดวงเสมือนเป็นการเต้นไปด้วยกัน ทำให้สนามโน้มถ่วงโดยรอบมีความแปรปรวนตามลักษณะการโคจรรอบซึ่งกันและกันของระบบดาวฤกษ์)
นักดาราศาสตร์พบว่าระบบดาวฤกษ์ GW Orions ทั้งสามดวงไม่ได้โคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน และการจัดวางตำแหน่งของดาวฤกษ์ทั้งสามก็ไม่ได้อยู่ห่างกันอย่างเหมาะสม (Misaligned) ทำให้บางช่วงเวลาแรงโน้มถ่วงมีความผันผวนสูงอย่างฉับพลัน จนทำลายจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดได้ในที่สุด
อีกนัยหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าดาวฤกษ์ก็มีอิทธิพลต่อการก่อกำเนิดดาวเคราะห์บริวารของมัน
เรียบเรียงโดย Einstein@min | thaiphysicsteacher.com
Sources:
[1] New observations show planet-forming disc torn apart by its three central stars. phys.org, 2020 : https://phys.org/news/2020-09-planet-forming-disc-torn-central-stars.html
[2] A triple-star system with a misaligned and warped circumstellar disk shaped by disk tearing. AAAS, 2020 : https://science.sciencemag.org/content/369/6508/1233
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys
Website : https://www.thaiphysicsteacher.com/