Le Verrier เป็นนักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนอกจากจะเป็นผู้ทำนายการมีอยู่ของดาวเนปจูนในวันที่ 31 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1846
โดยทำนายจากโมเดลทางคณิตศาสตร์ (ไม่ใช้กล้องฯ ด้วยนะเอาดิ) โดยวิเคราะห์จากการที่วงโคจรของดาวยูเรนัสถูกรบกวนจากดาวเคราะห์ที่ยังไม่ตรวจพบ นำไปสู่การค้นพบว่าดาวเนปจูนนั่นเองที่เป็นตัวการ หลังจากนั้น 17 วันมีการตรวจพบดาวเนปจูนโดย William Lassell (แหม ทันใจมากครับ)
Le Verrier ยังสนใจการหมุนควงของดาวพุธอีกด้วย โดยตีพิมพ์วารสารเกี่ยวกับการหมุนควงของวงโคจรของดาวพุธในปี ค.ศ. 1859
เมื่อนำโมเดลการทำนายการมีอยู่ของดาวเนปจูนมาวิเคราะห์ในลักษณะที่คล้ายกัน เขาก็เชื่อว่ามีดาวเคราะห์ หรือ Planet โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ ๆ กันอย่างแน่นอน โดยตั้งชื่อไว้ก่อนว่า “ดาว Vulcan”
อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการตรวจพบดาว Vulcan ทำให้แนวคิดของเขาถูกท้าทาย รวมถึงกลศาสตร์ของนิวตันอีกด้วย เพราะดาวเคราะห์จะต้องโคจรในวงโคจรเดิมต่อไปตลอดกาล หากไม่มีการรบกวนของแรงโน้มถ่วงจากมวลใด ๆ
56 ปีต่อมา
ในปี ค.ศ. 1915 ไอน์สไตน์ได้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป และสามารถอธิบายสาเหตุของการหมุนควงวงโคจรของดาวพุธได้ โดยทฤษฎีของไอน์สไตน์จะมองว่าความโน้มถ่วงเกิดจากความโค้งของกาลอวกาศ (Spacetime) เหมือนเราเอามวลไปวางบนผ้าใบที่ขึงตรึง ผ้าใบก็จะหย่อนลง
ดังนั้น ถ้าดวงอาทิตย์มีการขยับตำแหน่งเล็กน้อย ความโค้งก็จะถูกรบกวนด้วยเช่นกัน ส่งผลให้วงโคจรของดาวเคราะห์บริวารหมุนควงเปลี่ยนไปได้
ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์ตรวจพบว่าทุก ๆ 100 ปี วงโคจรของดาวพุธจะหมุนควงเปลี่ยนไปเป็นมุมประมาณ 574 ฟิลิปดา (อ้างอิงกับกรอบอ้างอิงเฉื่อยแบบ ICRF) นอกจากนี้เมื่อทฤษฎีบ่งชี้ว่าการหมุนควงของวงโคจรของโลกทุก ๆ 100 ปี วงโคจรโลกจะหมุนควงไปเพียง 3.84 ฟิลิปดา ซึ่งน้อยมากจนเหมือนว่าโลกโคจร ณ วงโคจรเดิมเสมอ เนื่องจากอยู่ในระยะไกลจากดวงอาทิตย์
ทฤษฎีกลศาสตร์นิวตันเปรียบเสมือนการมองจากภาพรวม หรือ Overview ในขณะที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์เป็นการอธิบายในรายละเอียดที่ครอบคลุมกว่า ถึงกระนั้นกลศาสตร์นิวตันก็ยังคงใช้งานได้ภายใต้ขอบเขตอย่างหนึ่ง (ไม่ได้เลิกใช้เสียทีเดียว)
ด้วยความแม่นยำของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ทำให้ทฤษฎีของเขา รวมถึงตัวเขาเองถูกจับตาและยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการทดสอบหลายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งแอดมินจะนำเสนอในตอนต่อไปครับ
เรียบเรียงโดย Einstein@min
ช่องทางติดตามข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys