ในปี ค.ศ. 1801 Johann Georg Von Soldner เสนอว่าแสงอาจเดินทางเป็นเส้นโค้งได้หากเคลื่อนที่ผ่านเทหวัตถุบนท้องฟ้าอย่างดาวฤกษ์
โดยในตอนนั้น Soldner เสนอว่าถ้าอยากสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวต้องสังเกตจากดาวฤกษ์ฉากหลัง (ที่อยู่ไกลมากกกกกกก จนเรามองว่ามันแปะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนที่สัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์ของเรา) อย่างไรก็ตาม Soldner ส่ายหัวว่า
“คงเป็นไปไม่ได้แล้วแหละ เพราะจะสังเกตได้อย่างไรกันล่ะ?”
ในช่วงเวลานั้นทฤษฎีเกี่ยวกับแสงที่เรียกว่า “Corpuscular” กำลังเป็นที่นิยมโดยมองว่าแสงเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ๆ (Corpuscular แปลว่า “small particles”) และกล่าวว่าแสงเดินทางเป็นเส้นตรงเท่านั้นและมีความเร็วจำกัดค่าหนึ่ง และมีพลังงานจลน์เฉพาะค่า แต่ทฤษฎีดังกล่าวกลับไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เชิงแสงอย่าง การสะท้อน การเลี้ยวเบน และการแทรกสอดได้
เวลาล่วงเลยมาร้อยปีนิด ๆ Albert Einstein คำนวณว่าแสงของดาวฤกษ์ฉากหลังสามารถเบนเนื่องจากความโน้มถ่วงได้ในปี ค.ศ. 1911 ขณะเดียวกันนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลในปี 1905 นามว่า Phillipp Lenard ได้กล่าวหาว่า Albert Einstein คัดลอกผลงานของ Soldner ในขณะเดียวกันก็มีคนเสนอว่า Einstein อาจไม่รู้การมีอยู่ของผลงาน Soldner ก็เป็นได้ โดยเขาอาจจะแค่คำนวณไปตามความสนใจส่วนตัว
Albert Einstein คำนวณได้ว่าแสงเดินทางเบี่ยงไปจากแนวเดิม 1.75 ฟิลิปดา โดยในปี ค.ศ. 1915 เขาได้มีการแก้ไขค่าที่ได้ในปี 1911 ให้ถูกต้อง โดยค่าที่คิดได้ในปี 1911 คิดเป็นครึ่งหนึ่งของค่าที่ถูกต้อง
การสังเกตปรากฏการณ์เปลี่ยนทิศทางของแสงเป็นครั้งแรก
Sir Arthur Eddington และลูกศิษย์ได้สังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 ณ ตอนนั้นแสงจากดาวฤกษ์ฉากหลังของกลุ่มดาว Taurus มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม
ผลลัพธ์ของการสังเกตการณ์กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายใหญ่เกือบทุกเจ้า ทำให้ไอน์สไตน์และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของเขาโด่งดังไปทั่วโลก แม้ว่า Sir Arthur Eddington และทีมงานจะไม่ได้คอนเฟิร์มการสังเกตการณ์ของตัวเองก็ตาม
ทั้งนี้ตัวของ Albert Einstein เองได้กล่าวอย่างเท่ ๆ ว่า
“Then I would feel sorry for the dear Lord. The theory is correct anyway.”
“ผมต้องขออภัยด้วยครับท่าน ทฤษฎีนี้มันถูกต้องเสมอ”
ปรากฏการณ์แสงเปลี่ยนทิศทางถูกทดสอบอีกหลายครั้ง
ท่ามกลางชื่อเสียงอันโด่งดังของ Einstein จากการสังเกตการณ์ของ Sir Arthur Eddington ก็มีการกล่าวหาว่าอาจเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ผิดพลาดก็ได้ โดยมองว่าเป็นการยืนยันทฤษฎีแบบเอนเอียง (Confirmation bias)
อย่างไรก็ตามการทดลองในปัจจุบันยืนยันผลการสังเกตการณ์ของ Eddington นั้นถูกต้องแม่นยำ
ยกตัวอย่างเช่นการสังเกตการณ์สุริยุปราคาในปี 1922 ที่หอสังเกตการณ์ Lick ก็ให้ผลเช่นเดียวกันกับในปี 1919
การสังเกตการณ์สุริยุปราคาในปี 1953 ที่หอสังเกตการณ์ Yerkes หรือในปี 1973 ของมหาวิทยาลัย Texas ก็ด้วย ล้วนบ่งชี้ว่าตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านในช่วงนั้น ทฤษฎีของไอน์สไตน์ก็ยังถูกต้องอย่างน่าหมั่นไส้จริง ๆ ครับ จะไม่ให้ชาบูและบูชาได้อย่างไร
ปล. แอดมินขอเลี่ยงคำว่า “แสงเดินทางเป็นเส้นโค้ง” ในบางประโยค เนื่องจากส่วนตัวมองการกล่าวแบบนั้นเหมือนกับ “แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งด้วยตัวเอง” ถ้าใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนที่” จะเห็นภาพมากกว่าว่าแสงโดน “กระทำ” จากแรงโน้มถ่วง จึงเบี่ยงเบนหรือเปลี่ยนทิศทาง
เรียบเรียงโดย Einstein@min
ช่องทางติดตามข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys