เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปีคริสต์ศักราช 1987 (2530) นักดาราศาตร์ตรวจจับการระเบิดซุปเปอร์โนวาของดาวฤกษ์ยักษ์ใหญ่ประเภท B3 ได้เป็นครั้งแรก เมื่อนับเวลาจนถึงตอนนี้ก็ 30 ปีพอดี มีประเด็นหลายๆอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับซุปเปอร์โนวานี้
ในวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ ก่อนที่จะกลายเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอน จะเกิดการระเบิดขนาดใหญ่ กระจายมวลสารไปทุกทิศทางไม่ว่าจะเป็นแก๊ส ฝุ่นต่างๆ รวมทั้งการปลดปล่อยรังสีพลังงานสูง เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ซุปเปอร์โนวา (Supernova)” คำแปลในภาษาไทยจะใช้คำว่า “มหานวดารา”
ซุปเปอร์โนวา 1987a ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์กำลังพัฒนาพอดี ทำให้สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงลักษณะ รูปร่าง กระบวนการต่างๆ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการอธิบายวิวัฒนาการของดาวฤกษ์
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักดาราศาสตร์ก็คือ หลังการระเบิดร่องรอยของมันปรากฏให้เห็นเหมือนวงแหวนที่กำลังเรืองแสงอยู่!
กลุ่มแก๊สเรืองแสงรูปวงแหวนปรากฏหลังการระเบิด
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าวงแหวนเรืองแสงนั้นปรากฏก่อนที่ดาวจะระเบิดด้วยซ้ำ และภายหลังการระเบิดของ SN 1987a ปรากฏให้เห็นเป็นกลุ่มแก๊สเรืองแสงสวยงามและมีความเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการระเบิดทำให้แก๊สได้รับพลังงานความร้อน และร้อนขึ้นเรื่อยๆจนอุณหภูมิสูงพอที่แก๊สจะเรืองด้วยตัวของมันเองได้
เราสามารถประมวลผลภาพหลังการระเบิด SN 1987a ได้จากการใช้ข้อมูลกล้องโทรทรรศน์ดังนี้
- ในช่วงปี 1999 ถึง 2013 กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Chandra สามารถตรวจจับรังสี X-ray ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงจาก SN 1987a ได้
- กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ถ่ายภาพ SN 1987a ในช่วงคลื่นรังสีที่ตามองเห็น (Visible light)
- ปี 2012 ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่อยู่ในเขตทะเลทราย Atcama ทางตอนเหนือของชิลี ทำให้วิเคราะห์ฝุ่นแก๊สต่างๆรอบๆจุดศูนย์กลางการระเบิด
เมื่อรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ทั้งสามแห่งก็ได้รูปภาพ SN 1987a ที่แปลกตาสวยงาม
ทั้งนี้สามารถหาซุปเปอร์โนวา 1987a ตั้งอยู่ในกาแล็กซีเพื่อนบ้านของเราที่ชื่อว่า เมฆแมเจลแลนใหญ่ อยู่ในเนบิวลาบึ้ง (Tarantula Nebula)