เกือบทั้งชีวิตของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เขาได้อุทิศตัวในการศึกษาธรรมชาติของชีวิต ตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มา และวิวัฒนาการของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีสิ่งมีชีวิตหลายตัวที่เขาได้ค้นพบมากมาย แต่มีสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่เขาถึงกับบอกว่ามันเป็น “Strangest animal ever” หรือเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกสุดๆ ไม่เคยพบเห็นแบบนี้ที่ไหนมาก่อน
สำรวจจึงค้นพบ
ย้อนไปช่วงกลางของชีวิตดาร์วิน เขาได้ท่องเที่ยวไปกับเรือ HMS Beagle ศึกษาธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในแถบอเมริกาใต้ และได้ค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังตัวหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่แปลกมากจนเขาต้องส่งต่อไปให้ Richard Owen ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ หรือเพื่อนของเขานั่นเอง
Richard Owen เมื่อได้เห็นฟอสซิล เขาอึ้งและแปลกใจมากกว่ามันเป็นสัตว์ประเภทไหนกันแน่ ที่มีลักษณะคล้ายอูฐที่ไม่มีหนอก เท้าคล้ายแรด และหัวกะโหลกคล้ายละมั่ง ภายหลังตั้งชื่อว่า “Macrauchenia patachonica” ซึ่งแปลว่า “long-necked llama” หรือ “สัตว์สี่เท้าคอยาว” (ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรก็ตั้งชื่อที่แปลตรงๆไปเลย)
นักวิจัยจาก Potsdam ไขความลับได้สำเร็จ
เป็นเวลากว่า 200 ปีที่ไม่มีใครให้คำตอบกับสิ่งมีชีวิตปริศนานี้ได้ จนกระทั่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพ็อทซ์ดัม (Universität Potsdam) ชาวเยอรมัน นำโดยศาตราจารย์ Michael Hofreiter ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองในเรื่องวิวัฒนาการ และพันธุศาสตร์ โดยตรวจสอบสารโปรตีนจากไมโทรคอนเดรีย (ซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับสารพันธุกรรมในนิวเคลียสของเซลล์ และ DNA ส่วนใหญ่ในซากฟอสซิลมักเสื่อมสภาพจนนำมาตรวจสอบไม่ได้) พบว่าเจ้า Macrauchenia มีเป็นญาติห่างๆกับสัตว์กีบคี่ (Perrisodactyla) ได้แก่พวก ม้า แรด และสมเสร็จ เป็นต้น
และเมื่อตรวจสอบอายุของซากฟอสซิลที่แก่ที่สุด และที่ใหม่ที่สุด พบว่า Macrauchenia patachonica ได้แยกสายพันธุ์ออกจากสัตว์กีบคี่เมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลก ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ แต่ Macrauchenia อยู่รอดได้จนเกือบถึงปัจจุบัน แต่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 20,000 ถึง 10,000 ปีก่อน
และนี่เป็นปริศนาใหม่ว่า เพราะเหตุใด Macrauchenia patachonica ถึงสูญพันธุ์ได้ และนักวิจัยยังค้นหาคำตอบของสิ่งมีชีวิตสุดแปลกนี้ต่อไป
Read Original Article and More Detail & Media
“Mystery of Darwin’s ‘strange animals’ solved.“. [Online]. via : nature 2017.