นักวิทยาศาสตร์อธิบายการเกิดแสงออโรราได้มานานแล้ว แต่ยังมีปรากฏการณ์หนึ่งของแสงออโรราที่ยังไม่มีคำอธิบายได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ Auroral Beads หรือปรากฏการณ์ลูกปัดแสงออโรรา
เมื่ออนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าพลังงานสูง หรือพลาสม่าที่มากับลมสุริยะวิ่งมาตามสนามแม่เหล็กโลก จนกระทั่งพุ่งชนอนุภาคของแก๊สในชั้นบรรยากาศของโลกปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านที่ตาเรามองเห็น หรือเรียกว่า แสงออโรรา
ขณะที่แสงออโรราพาดผ่านชั้นบรรยากาศโลกด้านบนนอกจากจะให้ความสว่างและความสวยงามยามค่ำคืนแล้ว ยังทิ้งปริศนาไว้อย่างหนึ่งนั่นก็คือ ทำไมแถบเส้นแสงออโรราถึงมีบริเวณเข้มจางสับหว่างราวกับสร้อยลูกปัด หรือเรียกว่า Auroral Beads ดังรูป

ภารกิจ THEMIS
ในปี ค.ศ. 2007 NASA ปล่อยยานสำรวจอวกาศ THEMIS ขึ้นไปในวงโคจรใกล้โลก เพื่อสำรวจการระเบิดอย่างรุนแรงของแสงออโรรา (Violent Eruption of the aurora) และเก็บข้อมูลสำหรับใช้ในการวิเคราะห์การเกิดของ Auroral Beads
หลังจากเก็บข้อมูลมามากกว่า 10 ปี ผ่านการประมวลผลด้วยโมเดลทางคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้หลักฐานที่แน่ชัดว่า Auroral Beads ก่อตัวได้อย่างไร
การก่อตัวของ Auroral Beads
คำอธิบายจากคลิป
เมื่อพลาสม่าจำนวนมหาศาลจากลมสุริยะกระหน่ำวิ่งเข้ามาปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก (จากขวาไปซ้าย) บางส่วนวิ่งไปด้านหลังโลกซึ่งเป็นช่วงกลางคืนก่อตัวเป็นฟองพลาสม่าที่มีความเข้มและบางเบาไม่เท่ากัน

Credit: Kareem Sorathia (JHUAPL/Center for Geospace Storms)
เมื่อลมสุริยะเบาบางลง กระแสพลาสม่าจะมีความปั่นป่วนสูงขึ้น พลาสม่าที่หนักกว่าจะจมตัวลงเข้าใกล้โลก โดยมีลักษณะเหมือนนิ้วมือหลายนิ้ว (Fingers of plasma) พาดผ่านชั้นบรรยากาศของโลกยาวมากถึง 4,000 กิโลเมตร เมื่อมองจากโลกจะคล้ายรูปร่างของลูกปัดเรียงรายห่างกันนั่นเอง
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] NASA Spacecraft Uncover Mystery Behind Auroral Beads. nasa.gov, 2020 : https://svs.gsfc.nasa.gov/13687
[2] Aurora Mysteries Unlocked With NASA’s THEMIS Mission. nasa.gov, 2020 : https://www.nasa.gov/feature/aurora-mysteries-unlocked-with-nasa-s-themis-mission/
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys