โรคพังผืดสะสมในปอดเกิดจากเนื้อเยื่อปอดหรือถุงลมได้รับความเสียหายและกลายเป็นแผลเป็น (Damaged and scarred) จนทำให้มีผนังที่หนาขึ้น ผลดังกล่าวทำให้การทำงานของปอดในภาพรวมผิดปกติ
อาการเบื้องต้นของผู้เป็นโรคพังผืดสะสมในปอด มีการแสดงออกหลายแบบ เช่น
- หายใจสั้นลำบากกว่าปกติ (Dyspnea)
- ไอแห้ง ๆ คิดว่าเป็นโรคหวัด แต่ไม่มีอาการร่วมที่ส่อว่าเป็นหวัด เช่น น้ำมูก ตัวร้อน เป็นต้น
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ปลายนิ้วมือนิ้วเท้ากลมบวม
- เมื่อออกกำลังกายเหนื่อยง่ายและเร็วกว่าปกติ
เดิมโรคพังผืดสะสมในปอดเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ มักพบผู้ที่มีอายุ 70 – 75 ปี พบยากกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยร่วมกันหลายแห่ง ได้แก่ Manchester, Oxford, Newcastle, College London, Toronto และ NHS ได้ตีพิมพ์วารสารเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดโรคพังผืดสะสมในปอดจากการนอนน้อยหรือมากเกินไป โดยพบว่าหากเรานอนมากกว่า 11 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า 4 ชั่วโมงจะมีแนวโน้มเป็นโรคพังผืดสะสมในปอดสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่นอนประมาณ 7 ชั่วโมง
ข้อมูลทีนักวิจัยนำมาวิเคราะห์นั้นนำมาจาก UK Biobank ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่รวบรวม ตรวจสอบการมีส่วนร่วมของพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม (เช่น ระยะเวลาในการนอน) ที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคในมนุษย์
กลุ่มคนที่นักวิจัยเป็นห่วงก็คือ คนที่นอนหลับยากหรือคนที่ต้องทำงานกะดึก คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคพังผืดสะสมในปอดสูง
เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบว่าโปรตีนที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตของร่างกายนามว่า REVERBα นั้น สามารถลดปริมาณคอลลาเจนหรือทำให้ผนังถุงลมมีความหนาน้อยลงได้
ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีนาฬิกาชีวิตที่ผันผวน นอนหลับไม่เพียงพอ หรือมีภาวะนอนที่ผิดปกติ ก็จะทำให้โปรตีน REVERBα ทำงานได้ไม่ดีตามไปด้วย
ดอกเตอร์ John Blaikley หนึ่งในนักวิจัยจาก Manchester กล่าวว่า
“โรคพังผืดสะสมในปอดเป็นโรคที่รักษาไม่หายในปัจจุบัน แต่การค้นพบว่านาฬิกาชีวิตมีส่วนสำคัญหรือเป็นกุญแจสำหรับการรักษา นั่นทำให้เราต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่าระยะเวลาในการนอนนั้นมีผลอย่างแน่ชัดจริงหรือไม่”
“งานวิจัยก่อนหน้าบ่งชี้ว่านาฬิกาชีวิตมีส่วนสำคัญต่อการติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งการก่อโรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวาน การค้นพบว่าระยะเวลาในนอนอาจมีผลต่อโรคพังผืดในปอด อาจทำให้เราหาวิธีรับมือที่เหมาะสมได้ในอนาคต”
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] Short or long sleep associated with Pulmonary Fibrosis. medicalxpress, 2019 : https://medicalxpress.com/news/2019-12-short-pulmonary-fibrosis.html
[2] The circadian clock protein REVERBα inhibits pulmonary fibrosis development. researchgate.net, 2019
[3] Pulmonary fibrosis. mayoclinic, 2019 : https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pulmonary-fibrosis/symptoms-causes/syc-20353690
[4] โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ. honestdocs.co, 2019 : https://www.honestdocs.co/the-idiopathic-pulmonary-fibrosis
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys