นักวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยโตเกียวประดิษฐ์ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ สามารถส่งคลื่นการเต้นของหัวใจผ่านสัญญาณไร้สายได้
Skin Electronics
นักวิจัยตั้งชื่อผิวหนังนี้ว่า skin electronics ภายในจะฝังหลอดไฟ LED ขนาดเล็ก และโมดูลตัวส่งสัญญาณไวเลส พร้อมแชร์ข้อมูลสู่ระบบ Cloud หรือที่เก็บข้อมูลอื่นๆ ได้ งานวิจัยนี้นำโดยศาสตราจารย์ Takao Someya จากมหาวิทยาลัย Tokyo
แล้วผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์เอาไปทำอะไรได้บ้าง
เป้าหมายของงานวิจัยในการสร้างผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ การนำไปทำอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) คล้ายกับนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่จะมุ่งเน้นไปทางการเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลมากกว่า เช่น คลื่นการเต้นของหัวใจ (Electrocardiogram) ซึ่งแพทย์สามารถติดตามอาการของคนไข้ได้จากทางบ้าน โดยข้อมูลจะส่งผ่านระบบ Cloud นั่นเอง
ฟังก์ชันเบื้องต้นของผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์
- มีความหนาเพียง 1 มิลลิเมตร
- มันสามารถยืดออกได้ถึง 45% ของความยาวเดิม โดยที่ระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในไม่เสียหาย
- ระบายอากาศได้ นั่นหมายถึงว่า ไม่มีปัญหาเรื่องเหงื่อที่จะเข้าไปทำให้วงจรเสื่อม
- มี Wireless Module สามารถแชร์ข้อมูลไปยัง Smart Phone ได้
- มีหน้าจอแสดงสถานะทำจาก MicroLED ความละเอียดขนาด 16*24 ตารางหน่วย
- ในอนาคตนักวิจัยจะเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ เช่น การวัดอุณหภูมิ, ความดัน และกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Myoelectricity) เป็นต้น
การจัดจำหน่ายในอนาคต
นักวิจัยตั้งเป้าว่าผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ระหว่างนั้นจะต้องปรับปรุงให้ต้นทุนการผลิตถูกลง พัฒนาประสิทธิภาพและความหลากหลายในการใช้งานให้มากกว่านี้ แต่ยังเน้นการใช้งานไปในทางด้านสุขภาพ เพราะเทรนด์การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลกำลังมาแรง
สามารถชมวีดิโอตัวอย่างของผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ Eurekalert.org