ดวงจันทร์ในยุคแรกเริ่มเปรียบเสมือนผลองุ่นสดที่ติดอยู่กับต้น แต่ปัจจุบันดวงจันทร์เหมือนลูกเกดที่ผิวย่น (ไม่รู้ว่าผอมหรือแก่กันแน่ :D)
Thomas Watters ผู้นำการวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ระดับ Senior จากวอชิงตันกล่าวว่า
จากผลการวิเคราะห์ของเราพบว่ารอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดวงจันทร์ผอมลงกว่าแต่ก่อน แถมชั้นภายในก็เย็นตัวลงอีกตัว
อาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายและเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือน
ในช่วงภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในโครงการ Apollo หมายเลขภารกิจ 11 จนถึง 16 ได้มีการติดตั้งเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือน หรือ Seismometers 4 ตัวด้วยกัน โดยติดตั้งกระจัดกระจายกันไป จากนั้นใช้ Algorithm ในการประเมินหาจุดศูนย์เหนือแผ่นดินไหว (Epicenter) โดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะช่วยให้เราทราบ
- ความหนาแน่น แนวโน้มอุณหภูมิโครงสร้างชั้นต่าง ๆ ของดวงจันทร์
- บริเวณหรือจุดกำเนิดแผ่นดินไหว
- อัตราการเคลื่อนที่แผ่นธรณีของดวงจันทร์
สถิติที่น่าสนใจก็คือ 6 ใน 8 ครั้งของการเกิดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ มักจะเกิดใกล้กับ Apogee หรือจุดที่ไกลที่สุดจากโลกมาถึงวงโคจรของดวงจันทร์ (ระยะใกล้สุดจะเรียกว่า Perigee) ซึ่งเชื่อว่าแผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดจากการรบกวนของแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือแรงไทดัล – แรงเดียวกันกับที่ทำให้น้ำขึ้นน้ำลงบนโลก
นอกจากอาศัยเครื่อง Seismometers ทั้ง 4 ตัวในการประเมินการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีแล้ว ยังอาศัยภาพถ่ายในการประเมินภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปบนดวงจันทร์จากยานสำรวจอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter หรือ LRO ที่โคจรรอบดวงจันทร์อีกด้วย
ภาพจาก LRO บ่งชี้ว่ามีแผ่นดินถล่มหรือก้อนหินร่วงหล่นตามไหล่เนินลาด ซึ่งอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ใกล้กับจุดลงจอดยานสำรวจอวกาศ Apoll 17
ประมวลผลข้อมูล
เมื่ออ้างข้อมูลที่ได้จากเครื่อง Seismometers และภาพถ่าย Thomas Watters ลงความเห็นว่า
ดวงจันทร์กำลังหดตัวลงเนื่องจากรอยเลื่อนประเภทที่ชั้นหินดันเข้าหากัน (Thrust Faults) และยังคงมีการแปรสัณฐานต่อไปอีกในอนาคต
John Keller หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแล LRO กล่าวว่า
เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่ข้อมูลเกือบ 50 ปีก่อนจากภารกิจ Apollo และจากภารกิจ LRO ช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของดวงจันทร์ และยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ โดยเฉพาะกระบวนการภายในของดวงจันทร์ (Moon’s interior process)
นอกจากดวงจันทร์ที่กำลังหดตัวเล็กลง ดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะก็มีการหดตัวเช่นกัน เช่น ดาวพุธที่มีการตรวจจับ Thrust Faults หรือรอยเลื่อนแบบผลักดันขนาดใหญ่ ซึ่งมีรอยต่อยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตร ในขณะที่รอยเลื่อนของดวงจันทร์มีความยาวแค่ 3 – 4 กิโลเมตรเท่านั้น
ส่วนการที่ดวงจันทร์มีขนาดเล็กลง ไม่ได้หมายความว่ามวลดวงจันทร์จะน้อยลง เพราะดวงจันทร์ไม่ได้สูญเสียมวล เหมือนร่างกายคนเราลดน้ำหนัก (เหมือนกระดาษฟอยล์ที่ขยำแบบหลวม ๆ และหลายปีต่อมาเรามาขยำให้มันแน่นขึ้น) ดังนั้นวงโคจรยังอยู่ในระดับเดิม และไม่เป็นอันตรายต่อโลก
Resource:
[1] : Shrinking Moon May Be Generating Moonquakes, NASA, 2019