ช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล นักปราชญ์ชาวกรีก Sophist ได้ให้นิยามเวลาว่า
เวลาไม่มีอยู่จริง (Non – Exist) แต่เราสามารถนิยามมันอยู่ในรูป concept หรือกำหนดการวัดมันขึ้นมาได้
เช่น สร้างนาฬิกาจับเวลาแล้วนำไปวัดเทียบกับสถานการณ์ หรือการกำหนดระยะเวลาวันเดือนปี ก็อ้างอิงจากจำนวนรอบที่โลกหมุนรอบตัวเองเทียบกับการโคจรครบรอบดวงอาทิตย์ โดยสังเกตจากฤดูกาล (Season) ทำให้เราได้ปฏิทินที่ทุก ๆ 365.25 วัน (โลกหมุนรอบตัวเอง) คิดเป็น 1 ปี (โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์) เป็นต้น
แต่ทฤษฎีปรัชญาในปัจจุบันมองแนวคิดเรื่องเวลาว่ามีตัวตน (Exist) ไว้ 3 แนวทางได้แก่
1. Presentism
มีแต่ปัจจุบันเท่านั้น อดีตและอนาคตเกิดจากการตีความของจิตใจมนุษย์
แนวคิดดังกล่าวปฏิเสธการมีทิศทางของเวลา (Direct interaction with the past or the future) แอดมินก็เคยคิดแบบนี้ บางทีจิตใจมนุษย์เรามโนไปเองเปล่าหว่า
2. Growing Block Theory
ปัจจุบันและอดีตมีอยู่จริง แต่อนาคตไม่มีอยู่จริง
โดยมองว่าปัจจุบันและอดีตเปรียบเสมือนการต่ออิฐไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต (อิฐอาจพังในบางช่วงเวลา หรือหยุดการก่อตัวก็ได้)
ทั้งสองแนวคิดดังกล่าวขัดแย้งต่อแนวคิดที่ 3 ก็คือ
3. Eternalism
ซึ่งมองว่าปัจจุบัน อดีตและอนาคตล้วนมีอยู่จริงและแยกออกจากกัน
เนื่องจากหากยึดแนวคิดที่ 1 และ 2 แนวคิดที่จะเดินทางข้ามเวลา (Time Travel) ก็คงเป็นไปไม่ได้
หลายท่านคงได้ดูหนัง Avengers End Game ดือ ดื่อ ดื้อ ดือ ดื่อ ดื่อ ดือ~ แหะแฮ่ม โทษทีอินไปหน่อยครับ ต่อ ๆ
ตอนที่ Tony Stark ได้กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับเวลาที่ต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ เช่น Back to the future โดยอธิบายว่า
เวลาในจักรวาลเป็นอิสระต่อกัน
หรือมองว่ามีพหุภพ (Multiverse) (เขาไม่ได้พูดแบบนี้ตรง ๆ แต่ผมตีความให้ชัดขึ้นให้ครับ) ที่ให้คำนิยามโดย William James นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (คำนี้คนนิยามมีตัวตนอยู่จริง แต่หนังไม่ได้พูดไว้ แอดมินแค่เสริมให้)
เนื่องจากเมื่อเรากลับไปแก้ไขอะไรในอดีต หรือหยิบยืมสิ่งของ ก็ไม่ส่งผลให้ปัจจุบันเปลี่ยนไป ถ้าเรารู้ช่วงเวลาเจาะจงจำเพาะได้ (Tony ถึงสร้าง GPS ที่ใช้ระบุช่วงเวลาการเดินทางได้อย่างแม่นยำ ยกเว้น infinity stone ถูกทำลายหรือขาดหายไปในช่วงเวลานั้น ต้องนำไปคืนใน Timeline เดิมอย่างเป๊ะ ๆ ไม่งั้น Timeline นั้นพัง อันนี้อ้างจากคำพูด Ancient One นะครับ)
แต่การเข้าไปยุ่งกับเวลา ก็สร้างการรบกวนใน Timeline นั้นๆ โดยเหมือนกับการสร้างเส้นทางเวลาใหม่ให้ดำเนินไป (New Timeline) แยกของใครของมัน เหมือนหน่อไม้ที่งอกใหม่ในดงไผ่ (แต่หน่อเดิมไผ่ต้นเดิมก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม)
จะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด Eternalism เป็นส่วนใหญ่
เวลาในแง่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
ในปี 1905 ไอน์สไตน์ตีพิมพ์แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Theory of relativity) โดยอธิบายว่า
“ผู้สังเกตการณ์ทุกคนไม่ว่าใคร หรืออยู่ในกรอบอ้างอิงใด ย่อมวัดความเร็วแสงได้เท่ากัน”
สมมติว่าผู้สังเกตสองคนถือนาฬิกาที่มีความเที่ยงและแม่นยำเท่ากันจากนั้นกดจับเวลาพร้อม ๆ กัน คนนึงอยู่บนโลก อีกคนเคลื่อนที่ด้วยยานสำรวจอวกาศความเร็วใกล้แสง แล้วกลับโลกมายื่นนาฬิกาให้ดู เข็มจะชี้ต่างกัน โดยคนที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสงนาฬิกาจะจับเวลาผ่านไปช้ากว่าเนื่องจากเป็นผลจากการเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันระหว่างผู้สังเกตทั้งสอง เราเรียกผลที่ต่างกันของการวัดช่วงเวลาของผู้สังเกตทั้งสองว่า “Time Dilation – การยืดของเวลา”
หากใครเคยดูหนังเรื่อง Interstellar ที่พ่อของเด็กหญิงคนหนึ่งเดินทางเข้าใกล้หลุมดำ หนีรอดกลับมาได้ ลูกสาวตัวเองแก่กว่าตัวเองซะงั้น ก็เป็นผลพวงจากปรากฏการณ์นี้
ด้วยแนวคิดดังกล่าวแม้แต่ตัวไอน์สไตน์เองยังพูดเลยว่า
Time is an illusion
Sources:
[1] What is time?. wired.com, 2019
[2] Time. wikipedia, 2019
[3] Time. Goodreads.com, 2019
[4] What is time?. Sciencedaily, 2019
[5] Minkowski space. wikipedia, 2019