พหุภพ หรือ Multiverse ตามข้อสันนิษฐานเป็นกลุ่มของเอกภพ (Universe) ที่อยู่ใกล้กัน เหมือนลูกองุ่นที่อยู่เป็นพวง ในแต่ละเอกภพมีทุกอย่างที่ควรจะมี เช่น กาลอวกาศ, สสาร, พลังงาน, กฎทางฟิสิกส์, ค่าคงที่ที่ใช้อธิบายกายภาพ (เช่น ค่า G เป็นต้น) รวมทั้งเวลา (บางแนวคิดเชื่อว่ามีสิ่งมีชีวิต มนุษย์ หรือกายภาพแทบจะเลียนแบบกันเป๊ะ ๆ แม้กระทั่งพฤติกรรม แต่แค่เวลาดำเนินไปช้าต่างกัน)
จากความต่างทางกายภาพดังกล่าวบางครั้งถูกเรียกว่า “เอกภพคู่ขนาน (Parallel Universe)” หรือนาน ๆ ครั้งจะใช้คำว่า Other Universe หรือ Alternate Universe
ในปี 2007 นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Steven Weinberg ได้ให้ความเห็นว่า
ถ้า Multiverse มีอยู่จริง ความหวังในการหาคำอธิบายว่าทำไมค่ามวลของอนุภาคควาร์ก ค่าคงที่อื่น ๆ ในแบบจำลองมาตรฐานที่เราสังเกตในเอกภพของเราถึงมีค่าแบบนี้ได้เท่านั้น ไม่เป็นค่าอื่น คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นน่าดู
ความพยายามหาหลักฐานของการมีอยู่ของMultiverse
ราว ๆ ปี ค.ศ. 2010 นักวิทยาศาสตร์ Stephen M. Feeney ใช้ข้อมูลรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพ (Cosmic Microwave Background) จากยานสำรวจอวกาศ WMAP (ปฏิบัติการช่วงปี 2001 – 2010) อ้างว่าพบหลักฐานการชนกันของเอกภพของเรากับเอกภพคู่ขนานอื่น ๆ (จินตนาการว่าเหมือนองุ่นสองลูกชนกัน)
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ข้อมูล CMB ใหม่จากดาวเทียม Planck ซึ่งมีความละเอียดในการตรวจวัดมากกว่า WMAP 3 เท่า ก็ไม่สามารถเผยหลักฐานการชนกันของเอกภพอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ข้ออ้างดังกล่าวตกไป
มุมมองของนักฟิสิกส์ชื่อดังStephenHawking
ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ศาสตราจารย์ Stephen Hawking และศาสตราจารย์ James Hartle ได้เสนอแนวคิดโดยใช้กลศาสตร์ควอนตัมอธิบายว่า หลังจากการระเบิดครั้งใหญ่หรือ Big bang ก็มีเอกภพอื่น ๆ ดำเนินไปพร้อม ๆ กับเอกภพของเรา และในแต่ละเอกภพมีกฎธรรมชาติที่หลากหลายแตกต่างจากเอกภพเราค่อนข้างมาก
ต่อมาศาสตราจารย์ Thomas Hertog อีกท่านได้ร่วมงานกับศาสตราจารย์ Stephen Hawking ได้ปรับปรุงแนวคิดใหม่ โดยเชื่อว่าเอกภพในแต่ละที่ไม่น่าจะมีกฎธรรมชาติที่แตกต่างกันมากขนาดนั้น (ควรมีระเบียบในระดับหนึ่ง) สาเหตุที่ทั้งสองท่านเชื่อเช่นนี้เนื่องจากหากกฎทางฟิสิกส์ในแต่ละเอกภพต่างกันอย่างสุดขั้ว
การหาร่องรอยที่เป็นหลักฐานการมีอยู่ของเอกภพคู่ขนานก็คงจะเป็นไปได้ยากมาก
ความพยายามค้นหาพหุภพในปี 2019
ณ ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Oak Ridge มีความพยายามในการค้นหาและเปิดประตูไปสู่เอกภพคู่ขนาน โดยการยิงลำอนุภาคนิวตรอนไปตามท่อยาว 164 ฟุต ณ ปลายท่อมีกำแพงที่ตามทฤษฎีลำนิวตรอนจะไม่สามารถทะลุผ่านไปยังตัวตรวจจับที่อยู่ด้านหลังได้ (ตั้งใจไม่ให้ผ่าน)
ดอกเตอร์ Leah Broussard นักฟิสิกส์ผู้นำการวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า
ถ้าเราตรวจพบว่านิวตรอนหลังกำแพงได้ มีคำอธิบายเดียวที่น่าเป็นไปได้ก็คือ แสดงว่าอนุภาคนิวตรอนเกิดการสั่นอย่างรุนแรง (Oscillating) จนมันวิ่งหลุดเข้าไปในเอกภพคู่ขนานชั่วครู่หนึ่ง และกลับมาสู่ในรูปแบบปกติยังเอกภพของเรา
ซึ่งผลการทดลอง Broussard กล่าวว่าเขาไม่ได้หวังว่าจะตรวจพบหรือเปิดประตูสู่เอกภพคู่ขนานได้อย่างทันที มันต้องอาศัยการทดลองจำนวนครั้งที่สูงพอสมควร เพราะอาจมีปัจจัยแทรกซ้อนที่สำคัญอีกมากที่ต้องค้นหา (หากเปิดประตูได้จริงอาจจะต้องใช้พลังงานที่สูงมาก เพราะขนาดแค่ลำอนุภาคขนาดเล็กยังใช้พลังงานมากขนาดนี้ หากต้องการให้คนหรือสิ่งของผ่านประตูเข้าไปคงมีความเป็นไปได้ยาก)
ทำไมต้องนิวตรอน
ในปี ค.ศ. 1990 มีการทดลองจับช่วงเวลาที่อนุภาคนิวตรอนสลายตัว (Neutron Decay) ให้อนุภาคโปรตอนออกมา (นอกจากนี้ยังสลายให้อิเล็กตรอนและแอนตินิวตริโนอีกด้วย) มีช่วงเวลาสลายไม่เท่ากัน จึงมีความพยายามในการอธิบาย และสันนิษฐานว่านิวตรอนบางส่วนหลงเข้าไปในเอกภพคู่ขนานชั่วครู่ ก่อนจะกลับมายังเอกภพของเรา จึงทำให้เวลาการสลายที่ตรวจวัดแปรค่าต่างกันไป
Sources:
[1] Stephen Hawking: Master of the multiverse. phys.org, 2019
[2] You Must Not Trust Experiments That Claim The Existence Of Parallel Universes. Forbes, 2019
[3] This Is Why The Multiverse Must Exist. Forbes, 2019
[4] Mirrorverse Theory: Scientists Build A Portal To Find A Parallel Universe. ibtimes, 2019
[5] Multiverse. wiki, 2019