นาซ่าเตรียมสร้างยานสำรวจอวกาศบินโฉบชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ หวังช่วยทำนายผลกระทบจากพายุสุริยะ
ในปี 2018 นาซ่าจะส่งยานสำรวจอวกาศนามว่า “The Parker” ออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี้ (Kennedy Space Center) รัฐฟลอริด้า และมันจะกลายเป็นยานสำรวจอวกาศลำแรกที่ได้บินผ่านตรงเข้าไปยังชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่รู้จักกันในนามว่า “Corona“
ยานทนความร้อนสูงกว่า 1,300 องศาเซลเซียส
แผนการคือสร้างยานสำรวจอวกาศไร้พลขับโคจรรอบดวงอาทิตย์ในระยะจากพื้นผิวประมาณ 6.3 ล้านกิโลเมตร โดยระยะนี้ยานอวกาศจะได้รับความร้อนสูงถึง 1,377 องศาเซลเซียส ตัวถังของยานนั้นสร้างไว้หนาถึง 4.5 นิ้ว เสมือนเป็นโล่กันความร้อน โดยทำมาจากสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ
the Parker จะมีขนาดพอๆกับรถยนต์คันเล็ก ทำภารกิจโคจรรอบดวงอาทิตย์ 7 รอบด้วยกัน กินระยะเวลาเกินกว่า 7 ปี ซึ่งเป็นภารกิจที่หินมากๆ สำหรับยานอวกาศลำเล็ก
บินเร็วจากนิวยอร์คถึงโตเกียวไม่ถึงนาที
ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์มันจะมีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงถึง 430,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถทำเวลาไม่ถึง 1 นาทีหากเคลื่อนที่จากเมือง New York มายัง Tokyo ที่ญี่ปุ่น
สำหรับวัตถุประสงค์ของการสำรวจนี้ก็คือ การเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการพยากรณ์ว่าพายุสุริยะ หรือสภาพอากาศทางอวกาศ มีผลต่อโลกเราอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลที่เก็บได้มีทั้งการตรวจจับคลื่นพลาสม่า และการถ่ายภาพปกติ และส่งข้อมูลที่ได้มายังโลกของเรา
นาซ่าได้ตั้งภารกิจนี้ว่า “Parker Solar Probe” โดยนำชื่อของศาสตราจารย์ Eugene Parker จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ปัจจุบันอายุ 90 ปี และยานสำรวจอวกาศ Parker จะกลายเป็นยานลำแรกที่ตั้งชื่อจากนักวิจัยทางดาราศาสตร์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่
Read Original Article and More Detail & Media
“A real scorcher: NASA probe to fly into sun’s atmosphere“. [Online]. via : nasa 2017.
No Responses