ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2019-nCoV ณ วันที่ 23 มกราคม 2563 อยู่ที่จำนวน 593 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย
ความเดิมจากอุบัติการณ์โคโรนาไวรัสทำให้เรารู้ว่าโคโรนาไวรัสนั้นมีหลายสายพันธุ์และวิวัฒนาการของมัน รวมทั้งการระบาดสู่มนุษย์ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่ากระบวนการนั้นเป็นอย่างไร จนกระทั่งกลางเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 ก็เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง ผม Einstein@min ได้เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์วันเวลาที่สำคัญไว้ดังนี้ครับ
12 ธันวาคม 2562
พบผู้ป่วยโรคปอดบวมจำนวนหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่เมื่อสอบถามประวัติการเดินทางก็พบว่าผู้ป่วยหลายรายมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นก็คือ เคยไปตลาดอาหารทะเลสดมาก่อน
31 ธันวาคม 2562
ผู้ป่วยต้องสงสัยรายแรกที่เชื่อว่าเป็นผลมาจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019-CoV โดยแพทย์สังเกตได้ว่าเขาแสดงการป่วยมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินกว่าจะเป็นโรคปอดบวมธรรมดา (โรคปอดบวมโดยทั่วไปมักมีระยะเวลาดำเนินของโรคประมาณ 1-3 วัน หรือประมาณหนึ่งสัปดาห์)
1 มกราคม 2563
ตลาดในเมืองอู่ฮั่นปิดทำการ และมีรายงานว่าผู้ที่เคยมาตลาดแห่งนี้เริ่มแสดงอาการติดเชื้อโคโรนาไวรัส มีผู้ที่คาดว่าติดเชื้อมากถึง 700 คน โดย 400 คนเป็นบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพที่ต้องจับตาอาการอย่างใกล้ชิด
9 มกราคม 2563
มีรายงานยืนยันการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัสเป็นรายแรก (อ้างจากรายงานข่าวของ New York Time : https://www.nytimes.com/2020/01/10/world/asia/china-virus-wuhan-death.html)
14 มกราคม 2563
หลังจากการพัฒนาชุดตรวจสอบเชื้อโคโรนาไวรัสด้วยวิธีการ PCR test พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริง 41 ราย ล้วนเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบเมืองอู่ฮั่น
ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์จีนก็ได้วิเคราะห์ลำดับจีโนมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2019-nCoV พบว่ามีความคล้ายกับเชื้อ SARS-CoV อย่างน้อย 70% แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าสายพันธุ์ใดอันตรายมากกว่ากัน
15 มกราคม 2563
จากรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส มีสถิติที่น่าสนใจ คือ ผู้ติดเชื้อที่เป็นสามีภรรยากัน หรือคนในครอบครัว จะมีคนใดคนหนึ่งไม่เคยมีประวัติไปตลาดขายอาหารทะเลสดมาก่อน ในขณะที่อีกคนทำงานในตลาดเมืองอู่ฮั่น ทำให้เชื่อได้ว่าโคโรนาไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
22 มกราคม 2563
จากวันที่ 14 มกราคม 2563 หรือคิดเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งไป 541 ราย (ประมาณ 13 เท่า) และตัวเลขรายงานผู้เสียชีวิตคิดเป็น 17 ราย (เป็นชาวจีนทั้งหมด)
23 มกราคม 2563
จากเดิมประเทศไทยเราได้รายงานผู้ติดเชื้อ 3 รายเมื่อช่วงวันที่ 20 – 21 มกราคม ตัวเลข ณ วันที่ 23 มกราคม รวมเป็น 4 รายแล้ว
สาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดไปในหลายประเทศได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เคยเดินทางมายังเมืองอู่ฮั่น
ด้านองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ออกมาแสดงความกังวลว่า
การระบาดอาจขยายวงกว้างขึ้น เมื่อเข้าสู่วันเที่ยวในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้ ณ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีความสามารถในการก่อโรคและการระบาดมากเพียงใด (Virulence) เป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (Super-Spreading)
ในอดีต SARS ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสอีกชนิดหนึ่ง เคยแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (Super-Spreading) ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเกิดจากการระบาดจากคนสู่คน เมื่อหมอท่านหนึ่งกลับจากจังหวัด Guangdong ทางตอนใต้ของจีน เข้าพักที่โรงแรม Metropole ในฮ่องกง เนื่องจากเขาติดเชื้อและเริ่มมีอาการ บวกกับแขกที่พักในโรงแรมส่วนใหญ่มีหลากหลายเชื้อชาติหลากประเทศพากันติดเชื้อกันหมด เมื่อเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาทำให้เชื้อแพร่ไปยังอีก 4 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม
หลังจาก SARS หยุดระบาด สรุปยอดผู้ติดเชื้อได้มากถึง 8,273 ราย เสียชีวิต 775 ราย รวมประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากถึง 37 ประเทศ ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังจากการอุบัติครั้งแรกที่จังหวัด Guangdong
Bottom Line : มาทำความรู้จักภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity or Population Immunity)
ภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นรูปแบบหนึ่งของการป้องกันการติดต่อของโรคในประชากร โดยไม่ใช่การป้องกันโดยตรง กล่าวสรุปจากรูปข้างต้นได้ว่า
- มีการติดต่อของโรคในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน (ม่วง > แดง)
- เมื่อประชากรบางส่วนมีภูมิคุ้มกัน จะทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อในประชากรน้อยลง (สีเหลือง = เมื่อมีบางคนมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น)
- เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น (สัดส่วนสีเหลืองมากขึ้น) จะทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อลง (แดงน้อยลง) จนภาพรวมกล่าวได้ว่าภูมิคุ้มหมู่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประชากรหมู่มากได้
Super-Spreader หมายถึง โฮสต์ หรือผู้ที่มีโอกาสติดและแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นโรคเดียวกัน มักจะเป็นผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป บุคคลที่เป็น Super-Spreader ต้องได้รับการดูแลและจับตาอาการเป็นพิเศษเมื่อเคยมีประวัติเดินทางไปยังสถานที่ที่โรคติดต่อเริ่มอุบัติเป็นครั้งแรก
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] 2019–20 outbreak of novel coronavirus (2019-nCoV) . wiki, 2020 : https://en.wikipedia.org/wiki/2019%E2%80%9320_outbreak_of_novel_coronavirus_(2019-nCoV)
[2] Super-spreader. wiki, 2020 : https://en.wikipedia.org/wiki/Super-spreader#SARS_outbreak_2003
[3] Superspreading SARS Events, Beijing, 2003. ncbi, 2020 : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3322930/
[4] New SARS-like virus in China triggers alarm . wiki, : https://science.sciencemag.org/content/367/6475/234
[5] New coronavirus infects health workers, spreads to Korea. umn.edu, : http://www.cidrap.umn.edu/news-perspective/2020/01/new-coronavirus-infects-health-workers-spreads-korea
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys