การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม (Resistors in Series) จะต่อกันดังรูปด้านล่าง

การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม
การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม ความต้านทานรวม จะเท่ากับผลบวกของความต้านทานย่อยของตัวต้านทานแต่ละตัว Author: Einstein@min

     เมื่อนำโวลต์มิเตอร์ไปต่อตกคร่อมตัวต้านทานที่มีความต้านทาน R_1 และ R_2 ตามลำดับ พบว่าความต่างศักย์ตกคร่อมจะมีค่าไม่เท่ากัน คือ V_1 และ V_2 ตามลำดับ

     แต่ผลรวมความต่างศักย์ตกคร่อมตัวต้านทานแต่ละตัวจะเท่ากับความต่างศักย์ตกคร่อมของถ่านไฟฉาย ถ้าถือว่าไม่มีความต้านทานภายในของถ่านไฟฉาย และไม่มีการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าไปกับพลังงานรูปแบบอื่น จะได้สมการ ดังนี้

V_{total} = V_1 + V_2 --- (1)

    และเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลครบวงจร ก็พบว่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวต้านทานจะมีขนาดเท่ากัน เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลผ่านท่อเดียวกันจะมีอัตราการไหลเท่ากัน ดังนั้นเราจะได้ความสัมพันธ์ ดังสมการ

I_{total} = I_1 = I_2 --- (2)

    จากกฎของโอห์ม V = IR นำไปแทนค่าในสมการที่ 1 จะได้

(I_{total})(R_{total}) = (I_1)(R_1) + (I_2)(R_2)

     และจากความสัมพันธ์สมการที่ 2 จะสามารถหารด้วยเทอมของกระแสไฟฟ้าออกทั้งสองข้างได้ ดังนี้

R_{total} = R_1 + R_2

     นั่นแสดงว่าความต้านทานรวมของตัวต้านทานที่นำมาต่อแบบอนุกรมกัน จะมีค่าเท่ากับผลรวมของความต้านทานย่อย ถ้ามีตัวต้านทาน n ตัว ที่มีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อนำมาต่อแบบอนุกรมจะได้ความต้านทานรวม ดังสมการนี้

R_{total} = R_1 + R_2 + R_3 + ... + R_n

Previous Page: ความแตกต่างระหว่าง “แรงดันไฟฟ้า” กับ “ความต่างศักย์ไฟฟ้า”

Next Page: การต่อตัวต้านทานแบบขนาน