Parker Solar Probe จะกลายเป็นยานสำรวจอวกาศลำแรก หรือวัตถุที่สร้างโดยมนุษย์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พร้อมกับภารกิจสำคัญ คือ ไขความลับของดวงอาทิตย์
เป้าหมายภารกิจ
ขนาดของยานนั้นพอ ๆ กับรถยนต์คันหนึ่ง แต่มีราคาถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 5 หมื่นล้านบาท ถูกปล่อยออกไปกับจรวดขนาดใหญ่ Delta IV จากแหลม Canaveral ในรัฐ Florida โดยมีภารกิจสำคัญ คือ
- เผยความลับของชั้นโคโรนา (Corona) ชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าชั้นไหน ๆ เพราะมันมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์มากกว่า 300 เท่า
- นักวิทยาศาสตร์มีแผนว่าจะให้ยานโคจรผ่านชั้นโคโรนา 24 ครั้ง กินระยะเวลาประมาณ 7 ปี
ข้อมูลจากการสำรวจจะช่วยทำนายการรบกวนของลมสุริยะที่เกิดจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ จนปล่อยมวลสารบางส่วนออกมายังโลก ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ๆ ขัดข้องในอดีตมาแล้ว นอกจากนี้ในอนาคตหากเราต้องการส่งนักสำรวจเข้าใกล้ดาวอังคาร ก็อาจจะมีวิธีการป้องกันลมสุริยะที่วิ่งผ่านยานอวกาศก็เป็นได้
แนวคิดและการออกแบบ Parker Solar Probe
- เป็นยานไร้คนขับ อาศัยการบังคับจากระยะไกล
- ตัวยานสามารถป้องกันความร้อนระดับสูง โดยมีโล่กันความร้อนหนาถึง 4.5 นิ้ว ทำจากสารประกอบจำพวกคาร์บอนไฟเบอร์ (Reinforced carbon–carbon : RCC) ความหนาระดับนี้นักวิทยาศาสตร์เคลมว่ามันสามารถกันความร้อนที่ส่งออกมาจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ในระยะ 6.16 ล้านกิโลเมตรได้
- หากอุปกรณ์ทุกอย่างทำงานได้ดี ภายในตัวยานจะมีอุณหภูมิเพียง 29 องศาเซลเซียส
ที่มาของชื่อ Parker
ประมาณปีคริสต์ศักราช 1958 นักฟิสิกส์นามว่า Eugene Parker ได้อธิบายความเป็นไปได้ในการสร้างยานสำรวจที่ทนต่อความร้อนระดับสูงของชั้นโคโรนาได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครเชื่อ จนกระทั่งปี 1962 ยานสำรวจอวกาศของ NASA ชื่อว่า Mariner 2 สามารถวิ่งผ่านลมสุริยะในอวกาศเข้าไปสำรวจดาวศุกร์ได้เป็นผลสำเร็จ สร้างความหวังในอีก 60 ปีต่อมา จนกระทั่งเทคโนโลยีในการสร้างเกราะกันความร้อน (Heat Shield) สูงขึ้นจนเป็นที่มาของยานสำรวจอวกาศที่จะพิชิตความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ลำนี้
เมื่อตัวยานเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ มันจะมีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมาก ประมาณ 692,017 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็ว ๆ พอกับการใช้เวลาเคลื่อนที่จากนิวยอร์คไปโตเกียวภายในระยะเวลา 1 นาทีเท่านั้น และมันจะกลายเป็นวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา
Read Original Article and More Detail & Media
“จุดเริ่มการเดินทางของยานพาร์คเกอร์สู่ดวงอาทิตย์”. [Online]. via : NASA 2018.
“ยานสำรวจอวกาศพาร์คเกอร์โซลาร์”. [Online]. via : wiki 2018.