ราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ได้ตัดสินให้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2019 เป็นของนักฟิสิกส์ 3 ท่าน ได้แก่ ชาวแคนาดา 1 ท่าน และชาวสวิสอีก 2 ท่าน
“สำหรับผลงานที่ช่วยสร้างความเข้าใจวิวัฒนาการของเอกภพ และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ”
รางวัลถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
A) รางวัล 1/2 ส่วน ถูกมอบให้กับ James Peebles นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ชาวแคนาดา สำหรับผลงานในส่วนแรก
“การค้นพบทฤษฎีจักรวาลวิทยาเชิงกายภาพ (Physical cosmology)”
เรื่องราวเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเอกภพ
James Peebles มีความเข้าใจเกี่ยวกับ Physical Cosmology เป็นอย่างมาก ตลอดทั้งชีวิตการทำงานกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เขาทุ่มกับการวางรากฐานการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของจักรวาลมาโดยตลอด ขอบเขตทฤษฎีของ James นั้นถูกพัฒนาในช่วงกลางปี 1960 ถือได้ว่าเป็นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเอกภพที่เขาได้พัฒนานั้น ช่วยสร้างภาพความเข้าใจให้กับเรามาถึงปัจจุบัน
โมเดลบิกแบงได้อธิบายไว้ว่าเอกภพถือกำเนิดจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ 14,000 ล้านปีก่อน ณ ช่วงเวลาดังกล่าวเอกภพมีอุณหภูมิและความหนาแน่นสูงมาก จากนั้น 400,000 ปีต่อมา ได้ขยายตัวออก มีขนาดใหญ่ขึ้น เย็นตัวลง และเริ่มโปร่งใส คลื่นแสงต่าง ๆ สามารถเดินทางในอวกาศได้ไกลมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้รังสีที่แผ่จากการระเบิดในอดีตกาลยังคงตรวจพบได้รอบ ๆ ตัวเรา ทฤษฎีของ James Peebles ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเอกภพในช่วงต่าง ๆ (ช่วงต้น กลาง และหลังของเอกภพ เหมือนลำดับการเจริญเติบโตของเด็กทารก) นอกจากนี้ทฤษฎีและผลการคำนวณของเขาช่วยให้เราทำนายกระบวนการต่อไปของเอกภพได้ไม่มากก็น้อย
ปัจจุบันเรารู้และเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพเพียง 5% เท่านั้น ยังคงมีปริศนามากมายเกี่ยวกับเอกภพ เช่น สสารมืด พลังงานมืด หรืออื่น ๆ อีก 95% ที่รอให้มนุษย์ตัวเล็ก ๆ ได้ค้นพบต่อไป
ยังไม่จบนะครับ ยังเหลือผลงานอีก 1/2 ส่วนจากนักฟิสิกส์ชาวสวิสอีกสองท่าน อึดหน่อย ฮึบ ๆ แต่ได้ความรู้
B) รางวัลอีก 1/2 ส่วน ถูกแบ่งเป็น 1/4 ให้กับนักดาราศาสตร์ชาวสวิสสองท่าน ได้แก่ Michel Mayor และ Didier Queloz
“สำหรับการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ”
ออกล่าค้นหาExoplanet
แนวคิดที่ว่าอาจมีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่นอกระบบสุริยะนั้นมีมานานแล้วครับ แต่หลักฐานการค้นพบเรียกได้ว่า ยังไม่มีใครยกมือขึ้นแล้วพูดว่า “ฉันเจอก่อนนะ” มาก่อนเลย
ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 1995 Michel Mayor และ Didier Queloz ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือ Exoplanet ที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดพอ ๆ กับดวงอาทิตย์ของเรา ตั้งอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกนี่แหละ
การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นที่หอสังเกตการณ์ Haute – Proveence ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ความสุดยอดของสองคนนี้ก็คือ เขาได้ดัดแปลงอุปกรณ์ขึ้นมาเอง (Custom – made instruments) ทำให้สามารถมองเห็น Exoplanet ที่มีชื่อว่า “51 Pegasi b” ได้ โดยมันมีขนาดพอ ๆ กับดาวพฤหัสบดีของเรา
ผลงานการค้นพบดังกล่าวเรียกได้ว่า “ปฏิวัติวงการดาราศาสตร์” เลยทีเดียว เพราะภายหลังมีรายงานการค้นพบ Exoplanets มากกว่า 4,000 ดวง ช่วยเปิดมุมมองและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับนักดาราศาสตร์เกี่ยวกับสภาพของดาวเคราะห์ การค้นพบดาวที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย เป็นต้น
ถึงแม้รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปีนี้จะเหมือนเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ แต่แอดมินคิดว่าแนวคิดพื้นฐานจากอดีตได้ถูกต่อยอดมายังปัจจุบันแล้ว เพียงแต่เราอาจไม่ได้อยู่ในจุดที่ได้รับแรงกระเพื่อมโดยตรง (อาจได้รับโดยอ้อมแต่ไม่รู้ตัว) และรางวัลนี้เสมือนเป็นการขอบคุณภูมิปัญญาของสุดยอดนักคิด นักประดิษฐ์ที่มอบให้กับมนุษยชาติ
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources :
[1] Press release: The Nobel Prize in Physics 2019. Nobelprize.org, 2019 : https://www.nobelprize.org/prizes/physics/2019/press-release/
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys