บริษัท Xtera และ นักวิจัยจาก KDDI นำโดย Dr.Lidia Galdino จากวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าของ UCL ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอัตราการส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ระดับ 178 เทราไบต์ต่อวินาที (178,000,000 เมกะไบต์ต่อวินาที) ณ ความเร็วดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดไลบรารี Netflix ทั้งหมดได้ในเวลาไม่ถึงวินาที
อัตราการถ่ายโอนข้อมูลจากสถิติดังกล่าวทำได้โดยการส่งข้อมูลผ่านช่วงสีของแสงหรือความยาวคลื่นที่กว้างกว่าที่ใช้กันทั่วไปในใยแก้วนำแสง (โครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันใช้แบนด์วิดท์สเปกตรัมจำกัดที่ 4.5THz โดยระบบแบนด์วิดท์เชิงพาณิชย์ใช้ที่ 9THz ในขณะที่นักวิจัยใช้แบนด์วิดท์ที่ 16.8THz)
ในการทำเช่นนี้นักวิจัยได้รวมเทคโนโลยีแอมพลิฟายเออร์ต่างๆที่จำเป็นเพื่อเพิ่มกำลังส่งสัญญาณผ่านแบนด์วิดท์ที่กว้างขึ้นเพื่อสร้างความเร็วสูงสุดใหม่ โดยการพัฒนากลุ่มของ Geometric Shaping (GS) ใหม่ (รูปแบบของการผสมสัญญาณที่ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเฟส ความสว่างและโพลาไรซ์ของแสง) จัดการคุณสมบัติของแต่ละความยาวคลื่นที่นำมาผสมกันนั้น
โดยได้ตีพิมพ์รายละเอียดไว้ในวารสาร IEEE Photonics Technology Letters
ปรับใช้กับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้อย่างคุ้มค่า
เพียงอัพเกรดแอมพลิฟายเออร์ที่อยู่ตามเส้นทางใยแก้วนำแสงที่ระยะห่าง 40-100 กิโลเมตร (การอัพเกรดแอมพลิฟายเออร์จะมีราคา 659,647.68 บาท ในขณะที่การติดตั้งใยแก้วนำแสงใหม่ในเขตเมืองอาจราคาสูงถึง 18,552,591.00 บาทต่อกิโลเมตร ตัวเลขค่าเงินบาทเทียบกับปอนด์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563)
สถิติใหม่ที่แสดงให้เห็นในห้องทดลอง UCL เร็วกว่าสถิติโลกก่อนหน้านี้ถึงหนึ่งในห้าที่ทีมวิจัยของญี่ปุ่นทำได้ ที่ความเร็วนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงในการดาวน์โหลดข้อมูลที่ประกอบเป็นภาพหลุมดำครั้งแรกของโลกที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน (ซึ่งใช้ฮาร์ดไดรฟ์เกือบครึ่งตันในการบันทึกข้อมูลและขนส่งโดยเครื่องบิน)
สถิติความเร็วอินเทอร์เน็ตนี้ถือได้ว่าใกล้เคียงกับที่ Claude Shannon นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันได้กล่าวถึงไว้ตามทฤษฎี ในปีพ. ศ. 2492
ดร. Galdino อาจารย์ประจำ UCL และ Royal Academy of Engineering Research Fellow ผู้นำวิจัยกล่าวว่า
“ในขณะที่การเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์ที่ทันสมัยในปัจจุบันสามารถนำส่งข้อมูล ณ ความเร็วที่ 35 เทราไบต์ต่อวินาทีและเรากำลังดำเนินการนำเทคโนโลยีใหม่นี้ไปอัพเกรดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้แบนด์วิดท์ใยแก้วนำแสงได้ดีขึ้น และอีกไม่นานอัตราการส่งข้อมูลสถิติโลก 178 เทราไบต์ต่อวินาทีอาจมีให้เห็นได้ใช้งานโดยทั่วไป”
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] Optical Fibre Capacity Optimisation via Continuous Bandwidth Amplification and Geometric Shaping. ieee.org, 2020 : https://ieeexplore.ieee.org/document/9144561
[2] Engineers set new world record internet speed. https://techxplore.com/, 2020 : https://techxplore.com/news/2020-08-world-internet.html
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys
Website : https://www.thaiphysicsteacher.com/