นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Uppsala ได้เสนอว่าเราอาจอาศัยอยู่บนเอกภพที่มีโครงสร้างคล้ายฟองสบู่ในมิติที่ซับซ้อน
เรารู้ว่าเอกภพกำลังขยายตัวด้วยความเร่งมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว อาจเป็นเพราะว่าพลังงานมืด และทุกวันนี้พลังงานมืดถือเป็นหนึ่งในปริศนาสำคัญที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายหรือตรวจพบได้
ทฤษฎีสตริงอาจช่วยได้
ทฤษฎีสตริง (String Theory) เป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยอธิบายปริศนาดังกล่าว โดยมีสมมติฐานที่ว่าสสารทุกชนิด รวมถึงร่างกายของเราประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยคล้ายเส้นเปียโนและขนาดเล็กมาก ๆ ที่มีการสั่น (Vibrating) อยู่ตลอดเวลา หากไร้การสั่น มวลจะหายไป (จึงเป็นที่มาของชื่อทฤษฎีสตริง)
เมื่อนักฟิสิกส์ใช้ทฤษฎีสตริงอธิบายเอกภพกลับพบว่า ทฤษฎีจะใช้งานได้เมื่อเพิ่มมิติลงไปเกิน 3 มิติ (กว้าง ยาว สูง) เกินขอบเขตจากสามัญสำนึกที่เราเข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน และมีการโต้เถียงมากกว่า 15 ปี เพราะยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าเอกภพของเราจะถูกอธิบายได้โดยทฤษฎีสตริงจนถึงปัจจุบัน (ทุกอย่างเป็นแค่แบบจำลอง)
ปัจจุบัน นักวิจัยได้เสนอแนวคิดใหม่ โดยนำพลังงานมืดมาใช้อธิบายว่าเราตั้งอยู่เอกภพที่มีโครงสร้างคล้ายฟองอากาศ และฟองอากาศนั้นก็ขยายตัวอีกด้วย นั่นหมายถึง สสารทุกชนิดตั้งอยู่บนพื้นผิวฟองอากาศดังกล่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่ขีดจำกัดของทฤษฎีสตริงใช้อธิบายได้ และนำไปสู่ข้อสงสัยต่อไปว่าอาจจะมีฟองอากาศอื่น ๆ อีกที่อยู่ห่างออกไปจากฟองอากาศ ซึ่งเป็นที่ตั้งอยู่ของเอกภพที่เราอาศัยอยู่ (เหมือนเราอยู่บนผิวผลองุ่นลูกหนึ่ง และอาจยังมีองุ่นลูกอื่นที่อยู่ข้างเคียงอีกด้วย)
แบบจำลองของเอกภพนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Uppsala ได้เสนอไว้เพียงเป็นภาพจำลองที่ต่างจากภาพที่เรามีต่อเอกภพในอดีต โดยเชื่อว่าน่าจะปูทางแบบจำลองใหม่ ๆ และนำไปสู่การทดสอบทฤษฎีสตริงในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้สามารถอ่านงานวิจัย Emergent de Sitter Cosmology from Decaying Anti–de Sitter Space ได้ที่ Physical Review Letters 2018