เป็นเวลากว่า 150 ปี ที่เนบิวลา Eta Carinae ได้อวดโฉมความสวยงามบนอวกาศให้มนุษย์โลกเรารับชม แต่อีกประมาณ 13 ปีข้างหน้า เราอาจจะสังเกตได้ยากขึ้น เพราะมันจะสว่างมากกว่าเดิม
ในปี 1847 ได้มีการตรวจพบการแผ่รังสีแกมม่าขนาดใหญ่จากนอกโลก ภายหลังรู้ว่าเป็นการระเบิดขนาดใหญ่ (Hypernova) จากกลุ่มแก๊สฝุ่นเนบิวลา Eta Carinae (แต่การระเบิดจริงอาจเกิดขึ้นก่อนนั้น เพราะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใช้เวลาในการเดินทางหลายปี) และเมื่อความสว่างคงที่ ณ ช่วงเวลาเดียวกันนั้น Eta Carinae เคยเป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างลำดับที่ 2 รองจาก Sirius อีกด้วย
Eta Carinae ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ โดยในวันที่ตรวจจับได้ ความสว่างของการระเบิดสามารถเห็นได้แม้กระทั่งในตอนกลางวัน และภาพที่ตรวจจับได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศก็เผยให้เห็นลำของการระเบิดคล้ายรูปดัมเบล เรียกว่า Homunculus แปลว่า Little Man หรืออาจมองเห็นภาพเด็กน้อยแรกเกิดก็ได้
ด้วยลักษณะเด่นของ Eta Carinae นี้เองทำให้มันเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่ถูกถ่ายภาพบ่อยครั้งที่สุด และในอีก 13 ปีข้างหน้า หรือปีคริสต์ศักราช 2032 (บวกลบ 4 ปี) ความสวยงามในแง่รายละเอียดของโครงสร้างเนบิวลา และสีสันจะถูกลดทอนด้วยความสว่างมาก ๆ ของดาวฤกษ์ 2 ดวง (Binary Star System) ที่กำลังก่อเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า (งานวิจัยบ่งชี้ว่าจะสว่างมากกว่าเดิม 10 เท่า)
ทั้งนี้งานวิจัยอัพเดทใหม่จากนักวิจัย 17 คน นำโดยนักดาราศาสตร์ Augusto Damineli ชาวบราซิลเชื่อว่า จริง ๆ แล้วดาวฤกษ์ที่จะถือกำเนิดขึ้นอาจไม่ได้สว่างขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่อาจเป็นเพราะกลุ่มแก๊สที่บดบังดาวฤกษ์นั้นค่อย ๆ ขยายตัวออกจนจางลง และแสงจากดาวฤกษ์จึงแผ่มายังโลกด้วยความเข้มมากยิ่งขึ้น