หนึ่งในเรื่องน่าสนใจของดาวเสาร์ คือ เรามีความรู้เกี่ยวกับวงแหวนของมันน้อยมาก
ในปี 2009 เป็นช่วงเวลาที่ถือได้ว่าฤกษ์งามยามดีสำหรับการสำรวจวงแหวนของดาวเสาร์ เนื่องจากดาวเสาร์เข้าสู่ฤดูในทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า Equinox (ช่วงที่เวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน) ซึ่งจะเกิด 2 ครั้งในรอบปีของดาวเสาร์ (1 ปีของดาวเสาร์เท่ากับ 29 ปีของโลก) บวกกับ ณ ช่วงเวลานั้นระนาบของวงแหวนจะสะท้อนกับแสงอาทิตย์ทำให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมากพอที่ยานสำรวจอวกาศแคสซินี Cassini จะจับภาพไว้ได้
วงแหวนดาวเสาร์
การเปลี่ยนแปลงของแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาทำให้วงแหวนของดาวเสาร์มีอุณหภูมิแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เกิดขึ้น เราทราบกันมานานแล้วว่า วงแหวนดาวเสาร์นั้นประกอบไปด้วยอนุภาคน้ำแข็งประมาณล้านล้านชิ้น โคจรล้อมรอบ นักวิทยาศาสตร์คาดเดาไว้ว่าในช่วงที่เกิด Equinox นั้น ขณะที่อนุภาคน้ำแข็งเคลื่อนเข้าสู่ด้านมืดของดาวเสาร์ มันควรจะเย็นตัวลง ตามโมเดลที่เคยคาดไว้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
วงแหวนบางวงมีอุณหภูมิสูงกว่าวงแหวนข้างเคียง
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีวงแหวนบางวงที่เมื่อมันเข้าสู่ด้านมืดของดาวเสาร์ ควรจะเย็นตัวลง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยวงแหวนที่พูดถึงนี้ คือ วงแหวนรอบนอกที่มีขนาดใหญ่ หรือวงแหวนหลัก ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “the A ring” โดยมันมีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าโมเดลที่คาดไว้
เหตุที่อุณหภูมิของเป็นเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นเพราะโครงสร้างของอนุภาคน้ำแข็งนั้นมีลักษณะพิเศษ โดยการศึกษาก่อนหน้านี้จากข้อมูลที่ได้จากยานสำรวจอวกาศ Cassini พบว่า อนุภาคน้ำแข็งในวงแหวนของดาวเสาร์มีพื้นผิวคล้ายปุยฝ้าย หรือฟองน้ำ ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “Regolith” ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนช่วยในการเพิ่มพื้นที่ผิวในการกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าวงแหวนในบริเวณอื่นๆ
ทั้งนี้วงแหวนดาวเสาร์คาดว่าเกิดจากเศษหิน ฝุ่น และอนุภาคน้ำแข็งที่หลงเหลือจากการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ อาจจะเป็นในช่วงกำเนิดระบบสุริยะ บางส่วนรวมเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ และส่วนหนึ่งถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ดึงเข้ามาในวงโคจร จนกลายเป็นวงแหวนที่สวยงามอยู่ทุกวันนี้
แปลและเรียบเรียงโดย thaiphysicsteacher.com
Reference and More Detail & Media
“At Saturn, One of These Rings is not like the Others”. [Online]. via : NASA.GOV 2015.
“Saturn.“. [Online]. via : wikipedia 2015.
“Equinox.“. [Online]. via : wikipedia 2015.
“Rings of Saturn.“. [Online]. via : wikipedia 2015.