หนังสือเรียนอาจจะต้องมีการแก้ไขใหม่ในอนาคต เมื่อนักดาราศาสตร์จาก National Astronomical Observatories of Chinese Academy of Sciences หรือ (NAOC) กล่าวว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกอาจมีการบิดเบี้ยวเหมือนรูปตัว S เล็กน้อย
ณ จุดที่ไกลออกไปจากจุดศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ดาวฤกษ์แต่ละดวงจะใช้เวลาโคจรรอบจุดศูนย์กลางประมาณ 1-3 พันปี และมีสสารมืดขนาดใหญ่ที่มองไม่เห็น สร้างแรงโน้มถ่วงตรึงมันไว้ไม่ให้หลุดไปไหนจากกาแล็กซีของเรา
แต่แรงโน้มถ่วงก็มีข้อจำกัด เมื่อดาวฤกษ์บางส่วนอยู่ไกลมากเกินไป ก็อาจโดนแรงดึงดูดได้ไม่มากนัก ณ ขอบของกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือมีชื่อเรียกกันว่า “Milky Way’s Gas Disk” อะตอมของแก๊สไฮโดรเจนบางส่วนไม่ได้จัดเรียงจนทำให้เป็นจานแบบแบน ๆ ตามที่เราเข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ แต่กลับมีรูปร่างเป็นแผ่นจานโค้งเหมือนรูปตัว S
ขีดจำกัดในการสังเกต
หนึ่งในความจริงที่เราไม่สามารถทำได้ คือ ถ่ายรูปกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา เพราะดวงอาทิตย์ของเราเป็นหนึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก (ไม่สามารถ Selfie ได้ว่างั้นเถอะ เพราะกาแล็กซีมันกว้างซะเหลือเกิน) ดอกเตอร์ Chen Xiaodian นักวิจัยจาก NAOC กล่าวว่าก็ยังพอมีหนทางในการ Determine หรือจำลองรูปร่างของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราได้โดยอาศัยข้อมูลจากดาวฤกษ์ที่มีความสว่างสูงมาก ๆ โดยมีศัพท์เฉพาะว่า “Well – behaved Variable Stars” หรือนักดาราศาสตร์เรียกสั้น ๆ ว่า “Classical Cepheids“
เปรียบเหมือนเราเอาหลอดไฟสว่าง ๆ หลายพันดวงไปตั้งกระจายรอบกรุงเทพมหานคร เมื่อมองจากท้องฟ้า เราก็จะเห็นขอบเขตของกรุงเทพมหานครได้ เช่นเดียวกันนักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลดาวฤกษ์เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการบอกขอบเขต รวมถึงรูปร่างของกาแล็กซีทางช้างเผือก
ปกติแล้วดาวฤกษ์ Classical Cepheids จะมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 20 เท่า และมีความสว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 100,000 เท่า มวลมากใช่ว่าจะดี เพราะปฏิกิริยานิวเคลียร์จะเกิดอย่างรวดเร็ว ทำให้ดาวฤกษ์พวกนี้มีช่วงชีวิตที่สั้น หรือวิวัฒนาการได้เร็ว (ตายเร็วนั่นแหละครับ)
และนี่คือแบบจำลองกาแล็กซีทางช้างเผือกแบบสามมิติ 3D โดยอาศัยข้อมูลจากดาวฤกษ์จำพวก Classical Cepheids
ทั้งนี้งานวิจัยตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature Astronomy ในหัวข้อ An intuitive 3D map of the Galactic warp’s precession traced by classical Cepheids