โดยปกติ เมื่อแม่น้ำหรือแหล่งน้ำที่ใดแห้งขอด สิ่งมีชีวิตจำพวกปลามักจะเอาตัวไม่รอด และแห้งตายไปตามธรรมชาติ ยกเว้นเจ้าปลาปอด (lung fish) ที่สามารถเอาตัวรอดได้แม้ขาดน้ำหลายปี
ย้อนไปหลายร้อยหลายพันปีก่อน ปลาปอดในสมัยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ปัจจุบันรูปลักษณ์ภายนอกของมันก็ไม่ต่างกัน ปลาปอดเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิต กล่าวคือ ปัจจุบันเราพบทั้งฟอสซิลและตัวเป็นๆของมัน
ความสามารถในการเอาตัวรอดจากภัยแล้ง
เมื่อหนองน้ำค่อยๆแห้งลง ปลาปอดจะเริ่มเคลื่อนตัวด้วยครีบที่มีลักษณะเหมือนติ่งเนื้อ (คนท้องถิ่นเรียกว่า “ขา”) ไปยังจุดที่ยังพอมีน้ำอยู่บ้าง จากนั้นมันจะค่อยๆชอนไชโคลนลึกลงไปประมาณ 1 เมตร และขดตัวพร้อมกับสร้างรังคล้ายๆรังของตัวไหม ปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มตัวเอง เพื่อรักษาความชื้น
มนุษย์เรานำปลาปอดมารับประทานทั้งยามแล้ง โดยเฉพาะชาวแอฟริกัน เนื่องด้วยปลาปอดเป็นปลาท้องถิ่น และหาได้ตามแหล่งน้ำที่แห้งขอด นอกจากนี้บางสายพันธุ์ยังนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามอีกด้วย
ชมวีดิโอการเอาตัวรอดของปลาปอดในยามแล้ง
จากคลิปทำให้เราทราบข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ในบางครั้งชนพื้นเมืองนำโคลนจากแหล่งน้ำมาสร้างที่อยู่อาศัย ก็เผลอนำรังของมันมาใช้ในการสร้างก้อนอิฐ ทำให้มันติดอยู่ในกำแพงที่อยู่อาศัยนานหลายปี (จากคลิปสามารถอยู่นานได้ 4 ปีโดยไม่มีน้ำ) เมื่อฝนตกนำซึมผ่านรูเข้ามาในรัง ทำให้มันหนีออกไปได้
นอกจากปลาปอดจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่อาศัยอยู่บนโลกนี้นานหลายล้านปี แต่รูปลักษณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ปลาซีลาแคนท์ เป็นต้น และเพื่อความอยู่รอดพวกมันต้องอาศัยความสามารถพิเศษที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด