ชายผู้เปลี่ยนความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาติ
วันเกิดและวันเสียชีวิต
ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2422 ณ เมืองอูล์ม ราชอาณาจักรเวือร์ทเทมแบร์ก Königreich Württemberg ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1806 ถึง 1918 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตของรัฐบาเดิน – เวือร์ทเทมแบร์ก ประเทศเยอรมนี
และเมื่อไอน์สไตน์ได้โอนสัญชาติมาเป็นชาวอเมริกัน ก็ได้เสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี ณ พรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ด้วยโรคหัวใจวาย
แรงบันดาลใจในวัยเด็ก
ว่ากันว่าคนที่จะประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้ จะต้องมีแรงขับเคลื่อนหรือแรงบันดาลใจในวัยเด็ก ไอน์สไตน์ก็เช่นกัน ในวัยเด็กเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากพ่อและลุงของเขา โดยพ่อได้มอบเข็มทิศพกพาให้กับเขา ทำให้เขาเก็บความสงสัยว่าเพราะเหตุใดเข็มทิศถึงไม่เปลี่ยนทิศเลย และส่วนลุงก็ได้มอบเครื่องเล่นรถจักรไอน้ำ
การศึกษา
ในวัยเด็กไอน์สไตน์ถือได้ว่าเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า โดยเฉพาะเรื่องการอ่านและเขียน (Dyslexia) อีกทั้งความเขินอายทำให้เขามีพัฒนาการในการเรียนช้ากว่าเพื่อนๆ เพราะเขาชอบคิดและจินตนาการอยู่ในห้วงความคิดของตนเองมากกว่าสนใจโลกภายนอก และนี่ก็เป็นสิ่งที่หลายคนในปัจจุบันเชื่อว่าการที่ไอน์สไตน์ชอบคิดและจินตนาการทำให้เขามีสมาธิสูง และคิดอะไรได้มากและนานกว่าคนอื่นๆ
เมื่อเขาโตขึ้นความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นกลับกลายเป็นวิชาที่เขาปราดเปรื่องมากที่สุด ในขณะที่วิชาด้านศิลปศาสตร์ กับย่ำแย่ และทำให้เขาไม่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าสถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธ์รัฐสวิสในเมืองซูริค
ชีวิตการทำงาน
หลังจบการศึกษา เขาอยากเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่ก็ไม่สามารถหางานได้ เตะฝุ่นอยู่ 2 ปี จนได้พ่อของเพื่อนร่วมชั้นให้เขาได้งานที่สำนักงานสิทธิบัตรในกรุงเบิร์น ในตำแหน่งผู้ช่วยตรวจสอบเอกสาร กว่าจะมีคนมองออกว่าเขามีความสามารถมากแค่ไหนก็ใช้เวลานานพอควร สุดท้ายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจักรกล
ผลงานที่ทำให้มีชื่อเสียง
ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (Photoelectric Effect)
เมื่อก่อนนักวิทยาศาสตร์ยังมีข้อกังขาว่าแสงเป็นคลื่นหรืออนุภาคกันแน่ และหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ไอน์สไตน์ทำให้ข้อสงสัยนั้นหมดไป คือ การอธิบายสถานการณ์ที่โลหะได้รับแสง แล้วเกิดอิเล็กตรอนอิสระเคลื่อนที่บนแผ่นโลหะ ซึ่งต่อมาเรียกว่าปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ไอน์สไตน์ได้ให้แนวคิดง่ายๆว่า แสงมีปฏิกิริยากับสสารในรูปของก้อนพลังงาน (มองแสงเป็นก้อน เรียกว่า โฟตอน) โดยมีความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดของแมกซ์ พลังค์ ที่เคยเสนอก่อนหน้านี้
การเคลื่อนที่แบบราวน์
โดยเขาได้อธิบายถึงการเคลื่อนที่แบบสุ่มของวัตถุขนาดเล็กมากๆ ในเชิงคณิตศาสตร์สถิติได้
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
ไอน์สไตน์ได้ทำนายจากทฤษฎีของเขาว่า แสงไม่จำเป็นต้องเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงตลอดเวลา เนื่องจากความโน้มถ่วงนั้นสามารถทำให้เส้นทางการเคลื่อนที่ของแสงเปลี่ยนไปจากแนวเดิมได้ ในช่วงที่เกิดสุริยคลาสก็มีนักวิทยาศาสตร์พยายามตรวจจับตำแหน่งดาวข้างเคียงกับดวงอาทิตย์ ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อย ซึ่งก็เพียงพอที่จะยืนยันว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์นั้นใช้ได้
ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่เกินกว่าสามัญสำนึกที่ยากจะเชื่อได้ง่ายๆ เนื่องจากทฤษฎีนี้ทำนายว่าหากวัตถุใดๆเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสง เวลารอบๆวัตถุนั้นจะเดินช้ากว่า วัตถุที่อยู่นิ่ง (เมื่อมองในเชิงสัมพัทธ์ของกันและกัน) เช่น ยานอวกาศ A บรรทุกลูกเรือ ไปสำรวจดาวแห่งหนึ่งด้วยความเร็วใกล้แสง พอกลับมายังโลก บุคคลที่เคยอายุใกล้เคียงกับลูกเรือก็จะอายุมากกว่าลูกเรือ เนื่องจากเวลาสัมพัทธ์ และอีกหนึ่งสมการที่รู้จักกันดี คือ พลังงานเท่ากับมวลของสสารคูณด้วยอัตราเร็วแสงยกกำลังสอง ที่อธิบายว่ามวลเพียงเล็กน้อยสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานมหาศาลได้ ซึ่งสุดท้ายก็นำไปใช้อธิบายในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์
ทฤษฎีแรงเอกภาพ
ความพยายามครั้งสุดท้ายก่อนที่ไอน์สไตน์จะเสียชีวิต เขาต้องการจะรวมแรงพื้นฐานในธรรมชาติ ให้เป็นหนึ่งเดียว แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรวมแรงพื้นฐานเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันแนวคิดของไอน์สไตน์กลับเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์สาขากลศาสตร์ควอนตัม ที่เชื่อว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่จะรวมแรง ซึ่งทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลก็หนีไม่พ้น คือ ทฤษฎีสตริง และทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง เหตุที่ไอน์สไตน์ต้องการรวมแรงพื้นฐานเหล่านี้ อันเนื่องมาจาก ยุคที่เอกภพก่อตัวใหม่ๆ แรงในธรรมชาติอาจจะเคยเป็นหนึ่งเดียวกัน จนสสารได้กระจัดกระจายออกไป ทำให้แรงต่างๆก็แยกออกจากกันเช่นกัน
รางวัลโนเบล
หลายคนคิดว่าไอน์สไตน์ได้รางวัลโนเบลจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งสอง แต่ความจริงแล้วเขาได้รับรางวัลโนเบล จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริคได้ เนื่องจากในสมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์ต่างไม่ค่อยเห็นด้วยกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ เพราะพิสูจน์และทดลองได้ยาก อีกทั้งเหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไป (ไม่เช่นนั้นคงได้รางวัลโนเบล 3 ครั้งแน่ๆ)
Reference and More Detail & Media
“Albert Einstein.“. [Online]. via : wikipedia 2015.
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์“. [Online]. via : wikipedia 2015.
No Responses