ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 นักวิทยาศาสตร์ได้รับสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer พบการเคลื่อนที่ของวัตถุชิ้นหนึ่งที่มีรูปร่างยาวเป็นแท่งประมาณ 1 กิโลเมตร
ด้วยความยาวที่มากเกินสัดส่วนของเทหวัตถุที่ระบบของ Spitzer จะวัดได้ (เมื่อเทียบกับความกว้าง ปกติเทหวัตถุในอวกาศควรเป็นทรงเกือบกลม หรือทรงรีเป็นส่วนใหญ่) ทำให้ระบบไม่มีการแจ้งเตือนการค้นพบใด ๆ (Non-Detection) จนกระทั่งมีนักดาราศาสตร์จากฮาวายเป็นคนแรกที่ค้นพบในเดือนตุลาคม (จากข่าวถ้าระบบไม่มีขีดจำกัดในการตรวจหาเทหวัตถุในอวกาศ Spitzer จะเป็นเครื่องมือแรกที่ค้นพบก่อนใคร) นั่นทำให้นักดาราศาสตร์ถึงกลับต้องเปลี่ยนแนวคิดและระบบตรวจสอบเทหวัตถุที่อาจหลงจากภายนอกระบบสุริยะได้อีกในอนาคต
Robert Weryk ผู้ค้นพบ โอมูอามูอา
Robert Weryk นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์สัญชาติแคนาดา ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Hawaii ที่เมือง Manoa โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ทำให้เขาเป็นคนแรกที่ตรวจพบเทหวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะ (Interstellar Object) เป็นคนแรก และได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบผ่านวารสารผ่านเว็บ Nature ในหัวข้อ “A brief visit from a red and extremely elongated interstellar asteroid” และมีการตั้งชื่อเทหวัตถุชิ้นนี้ว่า “Oumuamua” อ่านว่า “โอมูอามูอา” ภาษาฮาวายแปลว่า “Visitor from afar arriving first” หรือ “ผู้มาเยือนเป็นคนแรกจากแดนไกล” และมีชื่ออย่างเป็นทางการตามหลักการตั้งชื่อเทหวัตถุทางดาราศาสตร์ว่า “1I/2017 U1“
ดาวหาง หรือ ดาวเคราะห์น้อยนอกระบบสุริยะ?
โอมูอามูอา ตามการตีพิมพ์ผลการค้นพบในครั้งแรกถูกระบุว่าเป็น “Asteroid” หรือ “ดาวเคราะห์น้อย” แต่ภายหลังพบว่าพื้นที่บางส่วนบนโอมูอามูอา มีการปลดปล่อยแก๊สออกมาด้วย ซึ่งคล้ายกับดาวหางทั่ว ๆ ไป ทำให้มีข้อถกเถียงกันว่าตกลงแล้ว โอมูอามูอา จัดเป็นเทหวัตถุประเภทใดกันแน่ แต่จากรายงานข่าวของวารสาร Nature มีการฟันธงจากนักวิจัยว่า โอมูอามูอา เป็นดาวหาง (Comet)
ถึงแม้โอมูอามูอาจะมีขนาดเล็กในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ สร้างความสว่างมากกว่าดาวหางทั่วไปถึง 10 เท่า เนื่องจากมีผลึกน้ำแข็งปกคลุมอยู่มากเป็นพิเศษ — แต่ไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ชัดเจนเนื่องจากการแก๊สปลดปล่อยออกมาไม่เท่าดาวหาง หรืออีกนัยหนึ่งมีองค์ประกอบไม่ถือว่าจัดเต็มเท่าดาวหาง มีอุณหภูมิผิวอุ่น ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากเมื่อเทียบอุณหภูมิกับเทหวัตถุชิ้นอื่น ๆ
นักวิทยาศาสตร์ประมาณกันว่าโอมูอามูอาน่าจะเดินทางมานานหลายล้านปี จนกระทั่งหลงเข้ามาในระบบสุริยะของเรา อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์พอ ๆ กับวงโคจรของดาวเสาร์ และมีความเร็ววงโคจรสูงมาก เส้นทางการเคลื่อนที่เป็นแบบไฮเปอร์โบลา กล่าวคือ โอมูอามูอาเดินทางมาเยือนระบบสุริยะแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย