การใช้ยาปฏิชีวนะในปัจจุบันนั้นแพร่หลายอย่างรวดเร็ว และการใช้อย่างไม่ถูกวิธี เป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยามากยิ่งขึ้น (Superbug) ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อดื้อยาจนเป็นโรคปอดบวม วัณโรค และโรคหนองในทำให้ทั่วโลกมียอดเสียชีวิตจากเหตุเชื้อดื้อยาถึง 700,000 คน
หากเราหยุดหาวิธีรับมือกับ superbug ในตอนนี้จะทำให้ปี ค.ศ. 2050 (หรืออีก 31 ปีข้างหน้า) จะมีผู้เสียชีวิตจาก superbug ถึงปีละ 10 ล้านคนเลยทีเดียว
เหตุที่ superbug นั้นฆ่าได้ยาก เป็นเพราะเชื้อเหล่านี้เปลี่ยนโฉมรูปทรงหรือโครงสร้างเพื่อหลอกให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถตรวจจับได้ และการเปลี่ยนรูปทรงไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอีกด้วย (no genetic changes)
ผลงานการตรวจพบเป็นของเหล่านักวิจัยนำโดย Katarzyna M. Mickiewicz และคณะ จากมหาวิทยาลัย Newcastle และเป็นการตรวจพบโดยพบผ่านกล้องฯ โดยตรงอีกด้วย
ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วย มาเพาะเชื้อเพิ่มในจานเพาะเชื้อ (Petri dish) ที่ใส่สารจำพวกน้ำตาลไว้ให้เพียบพร้อม นอกจากสภาพแวดล้อมจะเอื้อให้เชื้อแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วแล้ว แถมยังช่วยให้เราแยกแบคทีเรียชนิด L (L – form bacteria) ได้ดีอีกด้วย
L – form bacteri คือแบคทีเรียที่ไม่มีผนังเซลล์
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1935 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลนามว่า Emmy Klienberger ทำงานอยู่ที่สถาบัน Lister ได้ค้นพบแบคทีเรียชนิด L – forms เป็นครัั้งแรก โดยเป็นแบคทีเรียชนิดที่ไม่มีผนังเซลล์
โดยปกติระบบภูมิคุ้มกันหรือยาปฏิชีวนะจะไม่โจมตีเซลล์ที่ไม่มีผนังเซลล์ หรือเซลล์ร่างกายของเรา (เพราะเป็นเซลล์สัตว์) ดังนั้นเป้าหมายการโจมตีจะพุ่งตรงไปที่เซลล์แปลกปลอมที่มี “ผนังเซลล์” เสียส่วนใหญ่อย่างเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียดื้อยาเปลี่ยนรูปทรงได้อย่างไร
เมื่อแบคทีเรียไม่มีผนังเซลล์มันมักจะบอบบางกว่าปกติ เซลล์ขาดความแข็งแรง ทำให้โครงสร้างโดยรวมของเซลล์เสียไปด้วย นั่นหมายถึง รูปทรงของมันเปลี่ยนไป ในสภาวะนี้เองที่มันจะถูกมองข้ามจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ มันจะกลับมาผงาด และมาพร้อมกับผนังเซลล์อีกครั้ง และเมื่อมันหลอกเก่งขนาดนี้เลยทำให้สามารถต้านยาปฏิชีวนะได้
ถึงแม้งานวิจัยนี้ค่อนข้างน่าสนใจมาก แต่ยังอยู่ในบริบทที่สร้างข้อถกเถียงสูงมาก (controversial field) เนื่องจากการทดลองเกิดขึ้นภายนอกร่างกายของมนุษย์ แต่ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่สร้างความหวังให้กับการวิจัยในครั้งต่อ ๆ ไป เช่น การวิจัยเพื่อหาวิธีฆ่า L – form bacteria เมื่ออยู่ในสภาวะไร้ผนังเซลล์ แต่ยาต้องไม่จู่โจมเซลล์ร่างกายมนุษย์ (งานหินเลยแหะ)
การต่อสู้กับแบคทีเรียพวกนี้ยังคงดำเนินต่อไป และเราจะกลับมาด้วยกลยุทธ์ที่ดีกว่าในการสู้กับพวกมัน ในขณะเดียวกันแบคทีเรียเหล่านี้ก็หาวิธีรับมือโต้ตอบเราอยู่เสมอ ดังนั้นสงครามครั้งนี้เปรียบเสมือนเป็นการต่อสู้ที่ต่อเนื่องและยาวนาน
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources:
[1] First Direct Evidence Shows Bacteria Change Shape Inside Humans to Avoid Antibiotics. https://www.sciencealert.com/, 2019 : https://www.sciencealert.com/bacteria-can-shed-their-outer-skin-inside-us-to-avoid-antibiotics-new-study-shows?fbclid=IwAR0sIIGKWtHVeuQ9QQzTmarYv9oelCcxXcBVIvqJ-5USJl003NzCGAy4P58
[2] Antibiotic resistance: researchers have directly proven that bacteria can change shape inside humans to avoid antibiotics. https://theconversation.com/, 2019 : https://theconversation.com/antibiotic-resistance-researchers-have-directly-proven-that-bacteria-can-change-shape-inside-humans-to-avoid-antibiotics-124296
[3] Possible role of L-form switching in recurrent urinary tract infection. nature.com, 2019 : https://www.nature.com/articles/s41467-019-12359-3
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys
Website : https://www.thaiphysicsteacher.com/