การจดจำม่านตา หรือ Iris recognition เป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อระบุตัวตนโดยใช้ชีวมิติ หรือการตรวจสอบทางชีวภาพ (Biometric) – การสแกนลายนิ้วมือก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเข้ารหัสเพื่อระบุตัวตนแบบ Biometric เช่นกัน
ความเป็นมา
ในปี 1991 John Daugman ศาสตราจารย์ลูกครึ่งชาวอังกฤษและอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้คิดค้นกระบวนการเข้ารหัสโดยใช้การจดจำม่านตา (Iris Recognition) สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เป็นคนแรกๆ และเป็นระบบการเข้ารหัสแบบเรียลไทม์ (Real-Time) อีกด้วย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบสแกนม่านตา
เทคโนโลยีสแกนม่านตา มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเทคโนโลยี Biometric เดียวกันกับ Retinal Scan ซึ่งเทคโนโลยี Retinal Scan นั้นใช้การจดจำรูปแบบ (Pattern) ของหลอดเลือดบริเวณเรตินา (Retina) ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบของ Retina ที่แตกต่างกัน
จากรูปด้านบนเราจะเห็นว่าตำแหน่งของม่านตา (Iris) กับ เรตินา (Reina) นั้นอยู่คนละตำแหน่งกัน โดยม่านตาจะอยู่ด้านหน้าของลูกนัยน์ตา ทำหน้าที่ปรับปริมาณแสงที่จะเข้ามาตกกระทบบนเรตินา
หลักการทำงานการสแกนม่านตา
ศาสตราจารย์ John Daugman ได้ใช้หลักการเชิงแสงที่มีชื่อว่า Gabor wavelet โดย Wavelet เป็นปรากฏการณ์ที่คลื่นมีการสั่นของแอมพลิจูดเริ่มต้นจากค่าศูนย์ จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และลดลงเป็นศูนย์เช่นเดิม หลักการนี้จึงเหมาะแก่การใช้ในระบบสแกนม่านตา เพราะถ้าหากเราให้แสงกับเรตินาที่มีพลังงานของคลื่นแปรผันตามที่กล่าวมา ก็จะทำให้เราวิเคราะห์การตอบสนองเชิงแสงของม่านตา และสามารถแปลงเป็นรหัสเป็นข้อมูลสารสนเทศเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลได้
รังสีแสงที่ใช้ในการสแกนส่วนใหญ่จะเป็นรังสีช่วงใกล้อินฟราเรด (Infrared) หรือมีความยาวคลื่นประมาณ 700 – 900 นาโนเมตร เนื่องจากเป็นรังสีที่มีการสะท้อนกับกระจกตาได้น้อย ทำให้ได้ภาพม่านตาชัดเจน ไม่มีแสงสะท้อนรบกวน
อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสแกนม่านตา
ตั้งแต่เทคโนโลยีสแกนม่านตาเป็นจริงขึ้นมาตั้งแต่ปี 1991 ก็กินระยะเวลาถึง 25 ปีแล้ว ปัจจุบันเราสามารถพบเทคโนโลยีนี้ได้จากสมาร์ทโฟน กาแล็กซี S7 หรือระบบการเข้าสถานที่สำคัญหรือบริเวณที่การยืนยันตัวตนก่อนเข้าระบบต่างๆ
หลายๆประเทศเริ่มใช้ข้อมูลทาง Biometric ในการบรรจุลงใน ID หรือบัตรประชาชน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน ปี 2016 ที่ผ่านมาประเทศอินเดียมีฐานข้อมูลม่านตาของคนในประเทศแตะที่ 1 พันล้านคนแล้ว โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 พันล้านคน และเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีฐานข้อมูลม่านตาของประชากรถึง 62 ล้านล้านคน
การใช้เทคโนโลยีสแกนม่านตาในสนามบิน
จุดเด่นอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีสแกนม่านตา ก็คือ ถึงแม้เราจะใส่แว่นตาสีดำ หรืออยู่ห่างจากกล้องในระยะไกลก็ตาม ก็สามารถสแกนม่านตาได้อย่างแม่นยำถูกต้องในระดับหนึ่ง ดังนั้น เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ป้องกันการก่อการร้ายได้ ประเทศที่นิยมใช้ก็คือสหรัฐอเมริกา โดยติดกล้องไว้ตามสนามบิน หรือบริเวณที่มีการตรวจคนเข้าเมือง
ในปี 2006 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้จัดให้เทคโนโลยีสแกนม่านตาเป็น 1 ใน 3 เทคโนโลยีระบุตัวตนสากลสำหรับผู้ที่ใช้ e-passport (มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Biometric passport โดย 2 ใน 3 คือ เทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือ และระบบจดจำใบหน้า)