ช่วงที่โลกถือกำเนิดใหม่ๆ ยังไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะแก่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต เพราะมักจะถูกถล่มด้วยดาวหาง หรือเทหวัตถุนอกโลกอยู่บ่อยครั้ง ดาวหางบางดวงก็มีวัตถุดิบที่ภายหลังจะเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต (Prebiotic) เช่น กรดอะมิโน (amino acids) และ เปปไทด์ (Peptides) ซึ่งเป็นสายของกรดอะมิโนต่อกัน
Goldman นักวิจัยผู้ได้รับการสนับสนุนจาก NASA ให้วิจัยเกี่ยวกับ Astrobiology (เป็นศาสตร์ที่แยกออกมาจากชีววิทยา เน้นการศึกษาการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกและนอกโลก) กล่าวว่า “การอยู่รอดของ Prebiotic ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของโลกในยุคแรกเริ่มนั้น ยังเป็นที่ไม่ทราบแน่ชัดว่า พวกมันทำได้อย่างไร และการวิจัยของเราหวังว่าจะให้คำตอบคำถามนี้ และชี้ชัดได้ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดและอยู่ได้อย่างไรภายใต้สภาพแวดล้อมของโลก ณ ขณะนั้น”
การวิจัยของ Goldman เชื่อว่าหลังจากที่ดาวหางพุ่งเข้าชนโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน ก็ทำให้เกิดการนำเข้าสาร Prebiotic ที่หลากหลายจนครบองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต งานของเขาคือการใช้แบบจำลองทางควอนตัม (Quantum Simulation) ในการทำนายตัวอย่างโมเลกุลที่อยู่ในดาวหาง (เช่น น้ำ แอมโมเมีย เมธานอล และคาร์บอนไดออกไซด์) เพื่ออาจจะได้พบองค์ประกอบดั้งเดิมของสิ่งมีชีวิต (Raw Material) ประกอบกับขณะนั้นโลกเรามีสภาวะที่อาจเหมาะต่อการสังเคราะห์สารประกอบอย่างโปรตีน และเกิดการฟอร์มตัวกลายเป็นกรดอะมิโน (นักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่าความดันและอุณหภูมิ ณ ตอนนั้นสูงมากพอที่เร่งให้เกิดปฏิกิริยาการสร้างสารประกอบของสิ่งมีชีวิตได้)
นักวิจัยอีกแห่งจากวิทยาลัย Imperial ในลอนดอน และมหาวิทยาลัย Kent ก็ได้ทำการทดลองคล้ายกับการทดลองของ Goldman โดยการยิงลำแสงของแก๊สเข้าไปที่ก้อนตัวอย่างดาวหางที่มีน้ำแข็งที่เคยเก็บมาได้ (ลำแสงของแก็ส และความร้อน มีความดันและอุณหภูมิสูงเปรียบเสมือนสภาวะของโลกในยุคแรกเริ่ม) ก็พบว่ามีการก่อตัวของกรดอะมิโนเกิดขึ้น
“ดาวหางไม่เพียงจะนำองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตในยุคแรกเริ่มมามอบให้กับโลกแต่เพียงเท่านั้น ขณะเดียวกันโลกเราก็เหมือนจะรู้ และเตรียมพร้อมสำหรับการก่อตัวของสิ่งมีชีวิต เพราะความดันและอุณหภูมิในตอนนั้นสูงมาก และเอื้อต่อการสังเคราะห์โครงสร้างแรกเริ่มของสิ่งมีชีวิต” Goldman กล่าว
ก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยได้ทำการวิเคราะห์ฝุ่นของดาวหาง Wild 2 ก็พบว่ามีกรดอะมิโนไกลซีน ซึ่งคาดว่าดาวหางอื่นๆที่มีน้ำแข็งเป็นองค์ประกอบก็น่าจะมีเช่นกัน
Reference and More Detail & pics
“Icy comets serve as storks for life on Earth.”. [Online]. Available : phys.org 2015.