“พืชจะออกดอกเมื่อไหร่?” คำถามที่นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบมานาน ล่าสุดนักวิจัยค้นพบเซลล์ที่เป็นกลไกหลักในการออกดอกของพืช
Robert Turgeon ศาสตราจารย์ด้าน Plant Biology จากมหาวิทยาลัย Cornell พยายามค้นหาต้นต่อหลักที่ทำให้พืชออกดอกได้ โดยเจาะจงไปที่พืช Arabidopsis (พืชในวงค์เดียวกับผักกาด) และพืชตระกูลยาสูบ (Tobacco)
โปรตีน Flowering locus T: FT
นักวิจัยพบว่าพืชจะออกดอกได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับโปรตีนตัวหนึ่งที่สังเคราะห์จากใบ หรือบริเวณที่มีเซลล์ที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ (Photosynthetic Cells) โดยเรียกโปรตีนนั้นว่า “Flowering locus T” หากโปรตีน FT ถูกขนส่งไปยังปลายยอด (Shoot Apex) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการแบ่งเซลล์สูงมาก ก็จะสามารถพัฒนาเป็นดอกได้ แต่การค้นพบโปรตีน FT เป็นเรื่องยาก เพราะ FT อยู่ท่ามกลางสาร Chlorophyll ซึ่งยากต่อการสังเกต
นักวิจัยจึงใส่โปรตีนเรืองแสงสังเคราะห์ (Fluorescent Protein) โดยฉีดเข้าไปในท่อ Phloem ของพืช (ท่อลำเลียงสารอาหารของพืช) และระบุตำแหน่งที่อยู่ของโปรตีน FT ได้ โดยโปรตีน FT ถูกสร้างบริเวณใกล้กับเซลล์คอมพาเนียน (Companion Cells) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Phloem
ฆ่า Companion Cells พืชออกดอกช้า
เมื่อนักวิจัยลองฆ่าเซลล์คอมพาเนียนในพืชทั้ง Arabidopsis และพืชตระกูลยาสูบก็พบว่าการออกดอกของพืชถูกชะลอลง เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้ถูกฆ่าเซลล์คอมพาเนียน ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าโปรตีน FT อาจถูกผลิตขึ้นที่ Companion Cell หรือไม่ก็เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดเดียวกัน
สรุป
โปรตีน Flowering locus T เป็นโปรตีนที่พบได้ใน Phloem เกิดใกล้กับ Companion Cells หากกำจัด Companion Cells จะทำให้พืชออกดอกช้าลง ซึ่งนักวิจัยหวังว่าหากพัฒนาการควบคุมหรือคาดเดาได้ว่าพืชจะสร้างโปรตีน FT เมื่อไหร่ได้ จะทำให้เราสามารถกำหนดการออกดอก หรือผลผลิตทางเกษตรตามระยะเวลาที่ต้องการได้
ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ Researchers identify the cells that trigger flowering