ภาพที่เห็นอยู่นี้ ไม่ใช่พลุที่ระเบิดกลางอากาศแต่อย่างใด แต่มันคือ กระจุกดาวฤกษ์ที่รวมกลุ่มกัน เรียกว่า “The Cluster” ถูกห้อมล้อมไปด้วยฝุ่นและแก๊สระหว่างดวงดาว (Interstellar Gas and dust) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่ในอนาคต หรือเรารู้จักมันในชื่อว่า “เนบิวลา (Nebula)“
มวลเยอะยิ่งอายุขัยสั้น
กระจุกดาวฤกษ์และเนบิวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซี NGC 3603 ตั้งอยู่ห่างจากเราไป 2 หมื่นปีแสง (ประมาณ 190,000 ล้านล้านกิโลเมตร) ในกลุ่มดาว Carina ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่มีขนาดมวล อุณหภูมิและสีแตกต่างกันไป โดยอายุขัยจะยืนยาวแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมวลของมัน ยิ่งดาวฤกษ์มวลมหาศาลการเผาไหม้ภายในดาวฤกษ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอายุขัยน้อย สุดท้ายจะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา (Supernova)
กระจุกดาวใน NGC 3603 เป็นตัวอย่างที่ดีที่ใช้ศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ก่อนเกิด รวมถึงการเกิดของดาวฤกษ์เมื่อกาแล็กซีสองแห่งชนกัน เสมือนเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ในอวกาศที่มนุษย์อย่างเราไม่สามารถสร้างหรือจำลองได้ ทำได้เพียงสังเกตอยู่ห่างๆ และศึกษาความเป็นไปของมัน
ทั้งนี้ภาพนี้ถูกถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble เมื่อเดือนสิงหาคมและธันวาคมในปี 2009 ด้วยกล้องเลนส์ Wide ในย่านแสงที่ตามองเห็นได้ (Visible Light) และย่านอินฟราเรด (Infrared Light) ผสมกัน ทำให้เราทราบได้ว่ากลุ่มแก๊สส่วนใหญ่มีกำมะถัน ไฮโดรเจน และเหล็กเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนใหญ่จากการเรืองแสงอันสวยงามดังภาพที่เห็น