ภาพข้างต้นเผยให้เห็นอากาศยานรบสองลำที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง โดยบางบริเวณจะมีการซ้อนทับของหน้าคลื่นกระแทก (Sonic Booms) โดยนักวิจัยหวังว่าจะใช้การทดลองนี้ในการพัฒนายานที่สามารถบินเร็วกว่าเสียงแต่ไม่มีหน้ากระแทกอันเสียงดัง
เมื่ออากาศยานใด ๆ บินด้วยความเร็วที่ 1,225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ ระดับความสูงเหนือน้ำทะเล จะเกิดหน้าคลื่นที่มีความดันสูงรอบ ๆ ตัวอากาศยานนั้น ซึ่งมากพอที่จะทำให้แก้วหูทะลุ หรือกระจกหน้าต่างของสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในบริเวณใกล้เคียงแตกร้าวได้
ในการซ้อมบินของเหล่านักบิน Rock Star ที่ศูนย์วิจัยอากาศยาน Armstrong ของ NASA รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้เครื่องบินสองลำรุ่น T-38 บินด้วยความเร็วเหนือเสียง โดยให้ลำหนึ่งบินต่ำกว่าอีกลำในระยะ 9 เมตร จากนั้นใช้กล้องความเร็วสูงในการจับรูปแบบของหน้าคลื่นกระแทกที่เกิดขึ้น
Neal Smith หนึ่งในวิศวกรที่ช่วยวิเคราะห์ให้กับ NASA กล่าวว่า
คลื่นกระแทกของเครื่องบินลำที่ตามหลังมีรูปร่างที่แตกต่างออกไปจากลำแรก ข้อมูลนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างหน้าคลื่นกระแทกของยานสองลำนี้ได้ และอาจนำไปสู่การออกแบบปีกอากาศยานที่ลดเสียงดังที่เกิดจากคลื่กกระแทก
©NASA
Concorde อากาศยานเพื่อการพาณิชย์
ในปี พ.ศ. 2512 อากาศยาน Concorde เป็นเครื่องบินขนส่งโดยสารลำแรกที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียง (Supersonic Transport) ผลิตล็อตแรก 20 ลำ และปลดประจำการในอีก 34 ปีต่อมา เนื่องจากประสบปัญหาเสียงรบกวนจากคลื่นกระแทกขณะบิน ทำให้เสื่อมความนิยมลงจนบริษัทปิดกิจการ จึงทำให้บางประเทศและเมืองอื่นๆ แบนสายการบิน Franco-British ที่เป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้
NASA เชื่อว่าถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ Sonic Boom นี้ได้จะทำให้มีอากาศยานพาณิชย์ที่เร็วขึ้น การเดินทางของคนทั่วโลกจะรวดเร็วขึ้น แถมลดมลพิษทางเสียงอีกด้วย