หนึ่งในข้อถกเถียงเกี่ยวกับไดโนเสาร์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 นั่นก็คือ ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดอุ่นหรือสัตว์เลือดเย็น ปัจจุบันมีงานวิจัยหนึ่งได้ไขปริศนานี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่มีมนุษย์คนใดเคยเห็นหรืออาศัยอยู่ในยุคไดโนเสาร์ แล้วข้ามเวลากลับมาเล่าเกี่ยวกับกายภาพ หรือสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ในยุคไดโนเสาร์ให้เราฟัง นั่นทำให้วิชาธรณีวิทยาหรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสิ่งมีชีวิตโบราณเกิดขึ้น โดยวิเคราะห์จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่หลงเหลืออยู่
ช่วงปีคริสต์ศักราช 1960 มีข้อถกเถียงหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือ ไดโนเสาร์แท้จริงแล้วเป็นสัตว์เลือดอุ่น (Endothermic) หรือสัตว์เลือดเย็น (Exothermic) กันแน่ บ้างก็ว่ามีแบบผสมผสานกันทั้งสองแบบ (Combination)
นักบรรพชีวินยุคแรกได้เสนอว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดเย็นอย่างแน่นอน เพราะสันนิษฐานจากโครงสร้างทางกายภาพว่ามีลักษณะคล้ายกับสัตว์จำพวกกิ้งก่า (like-Lizard) จนกระทั่งนักบรรพชีวินวิทยานามว่า Robert T. “Bob” Bakker ชาวอเมริกันได้เสนอแนวคิดใหม่ว่า
“ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดอุ่น” โดยผลงานการตีพิมพ์ของเขาในปีคริสต์ศักราช 1968 ได้สร้างจุดสนใจใหม่เกี่ยวกับปริศนาทางกายภาพของไดโนเสาร์อีกครั้งหนึ่ง
งานวิจัยใหม่ในปีคริสต์ศักราช 2020
เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาเหล่านักวิจัย 5 ท่าน จากหลากสถาบันทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และอิสราเอลได้ตีพิมพ์วารสารงานวิจัยผ่านเว็บไซต์ ScienceAdvances ในหัวข้อ Eggshell geochemistry reveals ancestral metabolic thermoregulation in Dinosauria
ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่ช่วยไขปริศนาได้ว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดอุ่น!
เทคนิค Clumped Isotope Geochemistry
หนึ่งในเทคนิคใหม่ที่ช่วยประเมินอุณหภูมิร่างกายของไดโนเสาร์ขณะมีชีวิตอยู่ได้ นั่นก็คือ Clumped Isotope Geochemistry โดยจะอาศัยการวิเคราะห์พันธะเคมีระหว่างไอโซโทปหนักในแร่แคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งพบได้ในไข่ไดโนเสาร์
หลังจากนั้นนักวิจัยจะคำนวณไปอีกทอดหนึ่งว่า แล้วไดโนเสาร์ตัวแม่นั้นมีอุณหภูมิร่างกายเป็นอย่างไร
ไมอาซอรา (Maiasaura) และทรูโอดอน (Troodon) เป็นไดโนเสาร์สองสายพันธุ์ที่ใช้ศึกษาเกี่ยวกับอุณหภูมิภายในร่างกายขณะมีชีวิตอยู่
ในช่วงแรกของการศึกษา นักวิจัยได้ประเมินอุณหภูมิร่างกายของไดโนเสาร์ที่เคยอาศัยอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร (Equator) พบว่าอุณหภูมิร่างกายที่ประเมินได้อาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากไดโนเสาร์แถบนี้หากเป็นสัตว์เลือดเย็น ร่างกายของพวกมันจะปรับอุณหภูมิไปตามสภาพแวดล้อมได้
ศึกษาไดโนเสาร์ในละติจูดที่อยู่สูงขึ้นไป
เพื่อไม่ให้การประเมินอุณหภูมิร่างกายของไดโนเสาร์มีความคลาดเคลื่อน จึงย้ายไปศึกษาไดโนเสาร์ที่อยู่ทางตอนเหนือ หรือบริเวณที่สภาพอากาศค่อนข้างเย็นในแถบ Alberta ประเทศแคนาดา
แต่ก่อนที่จะประเมินอุณหภูมิร่างกายของไดโนเสาร์ นักวิจัยต้องประเมินอุณหภูมิอากาศสมัยยุคไดโนเสาร์เสียก่อน โดยนำเอาเทคนิค Clumped Isotope Geochemistry ไปใช้ตรวจหาอุณหภูมิร่างกายของหอยทาก (ที่มีเปลือกเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต) เนื่องจากหอยทากเป็นสัตว์เลือดเย็น โดยพบว่ามันมีอุณหภูิร่างกายประมาณ 26 องศาเซลเซียสในสมัยนั้น หรืออีกนัยหนึ่งอุณหภูมิของสภาพอากาศโดยรอบสมัยยุคไดโนเสาร์ก็มีค่าประมาณ 26 องศาเซลเซียสเช่นกัน (สัตว์เลือดเย็นจะปรับอุณหภูมิร่างกายให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อม)
เมื่อได้ค่าอุณหภูมิของสภาพอากาศ จึงนำไปเปรียบเทียบกับอุณหภูมิของไข่ไดโนเสาร์สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยเทคนิค Clumped Isotope Geochemistry เช่นเดียวกัน พบว่าไดโนเสาร์มีอุณหภูมิร่างกายประมาณ 35 – 40 องศาเซลเซียส
อากาศข้างนอก 26 องศาเซลเซียส แต่ไดโนเสาร์ที่เคยอาศัยอยู่บนแผ่นดิน Alberta มีอุณหภูมิร่างกายประมาณ 35 – 40 องศาเซลเซียส อ้าว แสดงว่ามันไม่ปรับอุณหภูมิร่างกายตามสภาพแวดล้อม นักวิจัยจึงสรุปว่าไดโนเสาร์เฉพาะสายพันธุ์ที่ศึกษาอยู่นี้เป็นสัตว์เลือดอุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย
เรียบเรียงวรรณกรรมโดย Einstein@min