เนบิวลา Calabash (แปลว่าน้ำเต้า) หรือในชื่อรหัส OH 231.8+04.2 เป็นตัวอย่างหนึ่งของจุดจบดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยคล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา ซึ่งในท้ายที่สุดจะกลายเป็นดาวยักษ์แดง (Red giant) และเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary Nebula)
ภาพนี้ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เผยแพร่บนเว็บไซต์ของนาซ่า (NASA) แสดงให้เห็นชั้นของแก๊สและฝุ่นที่พ่นออกไปในอวกาศ และอีกด้านหนึ่งก็มีการพ่นสสารด้วยความเร็วมหาศาล นักดาราศาสตร์ประมาณว่าแก๊สที่เห็นจากรูป (สีเหลือง) มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงถึง 1 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง
ดาวฤกษ์ที่ตายแล้วในเนบิวลาน้ำเต้าเป็นตัวอย่างหนึ่ง รวมทั้งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ในช่วงพริบตาเดียว ในแง่ของดาราศาสตร์ พริบตาเดียวในที่นี้กินระยะเวลาประมาณ 1 พันปี
เนบิวลาดังกล่าวยังรู้จักกันในชื่อ “เนบิวลาไข่เน่า (Rotten Egg)” เนื่องด้วยมีสารจำพวกซัลเฟอร์ (Sulphur) เป็นองค์ประกอบปะปนกับธาตุอื่นๆอยู่มาก เหมือนกับกลิ่นของแก๊สไข่เน่า โชคดีที่มันไม่ได้อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรา เพราะมันอยู่ห่างออกไปถึง 5,000 ปีแสง หรือประมาณ 47 ล้านล้านล้านกิโลเมตร ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวท้ายเรือ