ถ้าเราจะเดินทางไปเที่ยวสักที่หนึ่งบนโลกนี้ เครื่องมือสำคัญอันดับแรกเลยก็คือ แผนที่ ซึ่งมีความสำคัญมาก ช่วยลดเวลาในการเดินทาง ป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเจอ
เช่นเดียวกันกับความมุ่งหวังของนักวิจัยกลุ่มนี้ที่ต้องการสร้างแผนภาพสมอง 2 มิติ และ 3 มิติ ในอนาคต ถ้าเรารู้จุดสำคัญหรือจุดผิดปกติบนแผนที่สมองก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาหรือโรคทางสมอง เราอาจแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Zurich พัฒนาเทคนิคในการตรวจนับเซลล์ประสาท หรือ Neurons โดยสามารถแยกความหนาแน่นของ Neurons ตามซีกสมองต่าง ๆ ได้ (จำแนกตามความเข้มสี) แน่นอนว่านักวิจัยไม่ได้นับเองหรอก แต่ใช้ผู้ช่วยที่ใคร ๆ ในยุคนี้ก็ต้องพึ่งพา นั่นก็คือ “สมองกล (Artificial Intelligence)” หรือเรียกติดปากว่า “AI”
AI มีการทำงานที่เราแค่ไกด์แนวทางให้กับมัน ให้ feedback ในสิ่งที่อยากให้เรียนรู้ จนมันสามารถปรับความเข้าใจตามที่เราต้องการได้ ก็จะสามารถระบุ (Detect) สิ่งที่ต้องการจะให้ระบุได้ เช่น การตรวจจับใบหน้ามนุษย์ การระบุประเภทสิ่งของ หรือแม้กระทั่งว่า
“จุดดำ ๆ นี้ คือ Neurons นะ ถ้าเจอแล้วอยู่ติดกันมาก ๆ ให้ใส่สีเข้ม ๆ หน่อย”
AI ของนักวิจัยชุดนี้มีชื่อว่า “DeNeRD – Detect Neurons in different brain Regions during Development” มีความสามารถในการตรวจจับ Neuron ของหนูได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการสอนให้ DeNeRD ตรวจจับ Neuron ได้ก็คือ “อายุของสมอง” นักวิจัยจึงให้ DeNeRD ได้เรียนรู้ Neurons ของสมองจากหนูจำนวน 3 ตัวที่มีพัฒนาการต่างอายุกัน โดยกำหนดชื่อแต่ละตัว ดังนี้ หนู P4, P14 และ P56
การใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ส่วนประกอบของสมองในระดับเซลล์ (Cellular Composition of the brain) ได้ทั่วทั้งสมอง มีข้อได้เปรียบที่เครื่อง MRI ทำไม่ได้ก็คือ DeNeRD สามารถระบุเซลล์ประสาท (Neuron) รายตัวได้เลย หรือเป็นบริเวณ (Region) ที่เชื่อว่ามีความผิดปกติจากสมองมาตรฐาน (สมองหนูที่สุขภาพดี) แต่มีขีดจำกัดในแง่ที่ว่าหากนำไปใช้วิเคราะห์สมองของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนของสมองมากกว่าจะมีความแม่นยำลดลง
(ตรงนี้แอดมินไม่แน่ใจว่าต้องผ่าสมองออกมาเพื่อสแกนแล้วใช้ AI วิเคราะห์ หรือสแกนจากข้างนอกได้เลย ต้นทางไม่ได้ระบุไว้ แต่ถ้าใครอ่านเจอแจ้งด้วยเน้อ)
Asim Iqbal หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า
“DeNeRD เหมาะแก่การตรวจนับ Neurons ออกมาเป็นภาพ 2 มิติ แต่ในอนาคตเราจะขยายสมรรถนะของมันให้เป็น 3 มิติ และแน่นอนว่าต้องว้าวกว่าเดิม เพราะเราจะทำให้มันสามารถระบุตำแหน่งปลีกย่อยของ Neurons อย่างแขนงประสาท/Dendrite ได้อีกด้วย”
เรียบเรียงโดย Einstein@min
Sources :
[1] DeNeRD: an AI-based method to process whole images of the brain. medicalxpress.com, 2019 : https://medicalxpress.com/news/2019-10-denerd-ai-based-method-images-brain.html
[2] DeNeRD: high-throughput detection of neurons for brain-wide analysis with deep learning. https://www.nature.com/articles/s41598-019-50137-9, 2019 : https://www.nature.com/articles/s41598-019-50137-9
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
แอพ Blockdit : https://www.blockdit.com/thaiscience
Instagram : https://www.instagram.com/thaisciencenews
Twitter : https://twitter.com/Thaiphys