Stephen Hawking หรือฮอว์คิง ชายที่ชาวโลกจำภาพของเขาได้จากโรค ALS – ทำให้ประสาทสั่งการเสื่อม จนทำให้เขาต้องนั่งรถเข็นเกือบตลอดชีวิต
อะไรที่ทำให้นักฟิสิกส์นามว่าฮอว์คิง โด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วทุกมุมโลก ผลงานของเขามีอะไรบ้าง ชายที่คนทั้งโลกยกย่องให้ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจเอกภพของเราได้ลึกซึ้งที่สุด ผมแอดมิน Einstein@min พยายามจะรวบรวมข้อมูลจากหลายๆที่ และหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านตระหนักและเข้าใจความยิ่งใหญ่ของชายคนนี้ – Stephen Hawking
ข้อมูลส่วนตัวและการศึกษา
- ฮอว์คิง เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1942 ที่ Oxford สหราชอาณาจักร เข้าเรียนโรงเรียนระดับมัธยมฯ ที่ St. Albans จากนั้นเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย College ที่ Oxford
- ในปี 1952 ขณะอยู่ที่ College เขาอยากเรียนสาขาวิชาคณิตศาสตร์ แต่พ่อเขาต้องการให้เป็นหมอ อีกทั้งมหาวิทยาลัยไม่รองรับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เขาจึงหันมาสนใจสาขาฟิสิกส์แทน
- และปี 1962 ย้ายมาทำงานวิจัยที่ DAMTP (Dapartment of Applied Mathematics and Theoretical Physics) ณ Cambridge ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่นำความรู้ทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ทฤษฎีมาประยุกต์ซึ่งกันและกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นการวิจัยในสาขา Cosmology – วิชาจักรวาลวิทยา เน้นการศึกษาเอกภพแบบองค์รวม องค์ประกอบของเอกภพ ความสัมพันธ์ของระบบ และความเป็นมาของเอกภพ
- หลังจากนั้นอีก 3 ปี หรือในปี 1965 ผลงานวิชาการ หรือ Thesis เล่มแรกหลังจบ PhD ก็ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน ในชื่อว่า “Properties of Expanding Universe” – คุณสมบัติการขยายตัวของจักรวาล (เป็นงานวิจัยที่ผู้คนจากทั่วโลกเข้าถึงมากเป็นอันดับต้นๆ – ในระดับยอดชมล้านวิว)
ผลงานวิจัยและการค้นพบ
หลังจากฮอว์คิงหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ด้านจักรวาลวิทยา งานของเขาก็คือการศึกษาความเป็นไปของเอกภพโดยเฉพาะ และหลุมดำ คือ งานที่น่าสนใจที่สุด
การแผ่รังสีฮอว์คิง (Hawking Radiation)
เดิมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชื่อว่าหลุมดำนั้นดูดกลืนทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างแสง ในแง่นั้นหลุมดำต้องไม่ปลดปล่อยสิ่งใดออกจากตัวเองได้เลย เราจึงถือว่าหลุมดำเป็นวัตถุดำอย่างแท้จริง แต่ฮอว์คิงไม่เชื่อเช่นนั้น เขาลองเอาโมเดลฟิสิกส์สาขาควอนตัม มาพิจารณาควบคู่กับ หลักความไม่แน่นอน และการหมุนของหลุมดำ มันน่าจะมีอนุภาคสักตัวซิ ที่น่าจะหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงมหาศาลของหลุมดำได้
เมื่อหลุมดำมีการปลดปล่อยรังสีได้ เขาเชื่อว่ามันก็น่าจะสูญเสียมวลได้ > มวลน้อยลง > ระเหยไปจนหมด แนวคิดดังกล่าวอ้างจากความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงานของไอน์สไตน์นั่นเอง (ถ้าหลุมดำปลดปล่อยพลังงานในรูปรังสีได้ แสดงว่ามันต้องสูญเสียมวลด้วยเช่นกัน) สเตเฟ่น ฮอว์คิง จึงเป็นคนแรกที่ทำนายว่าหลุมดำยังมีวิวัฒนาการต่อไปจนกว่ามันจะระเหยจนหมด (Black Hole Evaporation)
ในปี 2008 NASA ได้ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Fermi ตรวจหารังสีแกมม่า ซึ่งเป็นรังสีที่ไม่มีมวล จึงทำให้มันสามารถหลุดหนีจากแรงโน้มถ่วงมหาศาลได้ (แรงโน้มถ่วงเกิดจากการอันตรกิริยาระหว่างวัตถุสองก้อนที่มีมวลเท่านั้น) แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะพบ ฮอว์คิงจึงเสนอไอเดียว่าเราต้องหาหลุมดำที่มีขนาดเล็ก (Micro Black Hole) เพราะมันจะปลดปล่อยรังสีฮอว์คิงได้อย่างชัดเจนกว่า ตรวจจับน่าจะง่ายกว่า แต่ความพยายามในการทดลองภาคพื้น หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์ตรวจจับรังสีจากหลุมดำในอวกาศ ก็ยังไม่มีการตรวจพบรังสีฮอว์คิง
แล้วอะไรทำให้แนวคิดนี้ถึงเป็นที่เชื่อถือแก่นักฟิสิกส์หลายคน….เนื่องจากทฤษฎีหลายทฤษฎีจากนักฟิสิกส์คนก่อน เมื่อนำมาปรับใช้ต่างก็ทำนายการมีของรังสีฮอว์คิงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น ณ ปัจจุบันเหตุที่เรายังไม่สามารถตรวจหารังสีฮอว์คิงได้ อาจเป็นเพราะ
- เทคโนโลยีในการสร้างหรือค้นหาหลุมดำขนาดเล็กนั้นยังไม่ถึง และตามทฤษฎีหลุมดำขนาดเล็กมีช่วงเวลาชีวิตที่สั้นมากก่อนจะสลายตัว
- ไม่ก็การค้นหาหลุมดำในธรรมชาตินั้นยากที่จะค้นหา เพราะเอกภพของเรานั้นกว้างมาก
หนังสือ
มีหนังสือมากมายหลายเล่มของฮอว์คิงที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก ถึงแม้ตัวเขาจะบอกว่า “เป็นหนังสือที่ขายดี แต่จะมีกี่คนที่อ่านจนจบ” ผมจะแนะนำหนังสือสองเล่มที่อ่านแล้วรับรองติดใจไม่เคยลืม ด้วยลีลาการเขียนของฮอว์คิง (เชื่อว่าเขาเขียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดกับรถเข็น และมีผู้ช่วยเป็นลูกของตน) และรูปภาพในการอธิบายแนวคิดต่างๆนั้น ละเอียดและเข้าใจง่าย
- A Brief History of Time – ประวัติโดยย่อของเวลา
กล่าวถึงภาพของเวลาและอวกาศในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ฮอว์คิงได้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างเวลาและอวกาศผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทำให้ภาพที่เรามองเกี่ยวกับเวลานั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จุดเด่นคือ ไม่มีสมการทางฟิสิกส์ที่ยุ่งยาก แต่ฮอว์คิงก็สามารถเขียนให้ผู้อ่านเชื่อ และคล้อยตามทฤษฎีได้อย่างแนบเนียน
- The Universe in a Nutshell – จักรวาลในเปลือกนัท
กล่าวถึงชีวิตการทำงานในตำแหน่ง Lucasian Professor ที่แคมบริดจ์ (ตำแหน่งเดียวกับ Sir Isaac Newton ที่เคยดำรงตำแหน่งในปี 1630 – 1677) นอกจากนี้ยังพูดถึงเกี่ยวกับเวลา ทฤษฎีสตริง ประวัติและหลักการของทฤษฎีฟิสิกส์ยุคใหม่
ปัญหาสุขภาพ
ในปี 1963 Stephen Hawking อายุ 21 ปี ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค ALS หรือโรคประสาทสั่งการเสื่อม ทำให้เขาเป็นอัมพาต และหมอเชื่อว่าเขาจะอยู่ได้ไม่ถึง 4 ปี แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้
ในบางครั้งชีวิตคนเราต้องเจอความยากลำบาก คุณต้องทำมันให้สำเร็จให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่ายอมแพ้ — กล่าวสุนทรพจน์ ที่ Oxford University Union ในปี 2016
เกี่ยวกับรถเข็นและระบบคอมพิวเตอร์ของฮอว์คิง
ปัญหาสุขภาพของฮอว์คิงทำให้การสื่อสารของเขาจำกัดอยู่แค่การแสดงอารมณ์ผ่านใบหน้าแต่เพียงเท่านั้น ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร ฮอว์คิงได้สปอนเซอร์จาก Intel ช่วยพัฒนา Tablet พร้อมติดรถเข็นให้กับเขา ส่วนหน้าจอ Interface ก็ใช้ซอฟแวร์ที่เปิดให้ใช้ฟรี (Open Source) ชื่อว่า ACAT (ลิงค์ดาวน์โหลด) พัฒนาโดย Intel อีกเช่นกัน การเคลื่อน Cursor ของเมาส์อาศัยการตรวจการเคลื่อนที่ของแก้มบนใบหน้า เมื่อฮอว์คิงฉีกยิ้ม หรือแก้มขยับไปทางใด Cursor เมาส์ก็จะเคลื่อนไปตามต้องการ นอกจากนี้ยังใช้ซอฟแวร์อีกส่วนชื่อว่า SwiftKey ซึ่งเป็นอัลกอริทึมที่สามารถเดาคำได้ ทำให้ฮอว์คิงไม่จำเป็นต้องพิมพ์ทุกตัวอักษร เมื่อได้คำที่ต้องการก็จะมีระบบสังเคราะห์เสียงพูดขึ้นมา ทำให้เขาสามารถสื่อสารกับสาธารณชนได้
ในวันพุธที่ 14 มีนาคมที่ผ่านฮอว์คิงเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านเกิด Oxford ด้วยอายุ 76 ปี ทั้งนี้วันเกิดของเขาตรงกับวันเสียชีวิตของกาลิเลโอ (8 มกราคม) และเสียชีวิตวันเดียวกับวันเกิดของไอน์สไตน์ (14 มีนาคม)
Read Original Article and More Detail & Media
“Computer Hawking.”. [Online]. via : Hawking 2018.
“Hawking Radiation.” [Online]. via : wiki 2018.
“Stephen Hawking.”. [Online]. via : Hawking 2018.