คราบหินปูน และเมือกสีน้ำตาลที่พบได้ตามท่อระบายน้ำ เป็นตัวอย่างของคราบจากแบคทีเรียที่เรียกว่า “ไบโอฟิล์ม (Biofilms)” ซึ่งแบคทีเรียสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองจากสภาวะชะล้างจากน้ำ ทำให้ยากต่อการทำความสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าแบคทีเรียพวกนี้ปรับตัวได้อย่างไร
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิช (Munich) สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าแผ่นไบโอฟิล์มของแบคทีเรียบางชนิดสามารถกันน้ำ เหมือนใบบัวได้
นักวิจัยกล่าวว่าแบคทีเรียเมื่ออาศัยอยู่ในสภาวะที่เป็นอันตรายต่อตัวมันเอง มันจะสร้างเกราะคุ้มกัน ซึ่งเป็นสารเคมีจำพวกพอลิเมอร์ ผสมระหว่างตัวของมันเองกับเมือก เกิดเป็นไบโอฟิล์ม (biofilm) ขึ้นมา
การสร้างแผ่นไบโอฟิล์มของจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียเหล่านี้ เป็นกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดต่อการชะล้างเมื่ออาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำ หรือแม้แต่วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์อย่างรากฟันเทียมก็พบได้เช่นกัน
เอาชนะไบโอฟิล์มให้ได้
ศาสตราจารย์ Oliver Lieleg ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) กับทีมวิจัยที่มีชื่อกลุ่มว่า “Biological Hydrogels” กำลังศึกษาหลักการทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างแผ่นไบโอฟิล์มของแบคทีเรียว่าเป็นอย่างไร โดยทีมวิจัยมีความมุ่งหวังว่าจะเอาชนะแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะให้ได้ เพราะกลไกหลักๆที่ทำให้แบคทีเรียเหล่านี้ดื้อยาก็คือ การสร้างแผ่นไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย
หนึ่งในกลยุทธ์ที่คิดไว้ก็คือ การทำลายพื้นผิวของไบโอฟิล์ม หรือเปลี่ยนสภาพพื้นผิวให้ง่ายต่อการชะล้างของน้ำ
โดยปกติพื้นผิวของไบโอฟิล์มของแบคทีเรียแต่ละชนิดจะมีความหยาบสูง คล้ายกับใบบัว ทำให้น้ำไม่สามารถชะล้างได้โดยตรง ดังนั้นหากทำลายสภาพพื้นผิวได้ก็จะสามารถทำลายหรือกำจัดแบคทีเรียเหล่านี้ได้นั่นเอง
Read Original Article and More Detail & Media
“Surface topology affects wetting behavior of Bacillus subtilis biofilms”. [Online]. via : nature.com 2017.