ทำไมการที่แบคทีเรียเริ่มดื้อยาปฏิชีวนะถึงเป็นเรื่องใหญ่ และเราจะร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร?
ในวงการยาปฏิชีวนะ เรามีชื่อเล่นเรียกเชื้อแบคทีเรียที่มีพฤติกรรมต้านยาปฏิชีวนะว่า Super Bug แต่ถ้าดื้อยามากกว่าหนึ่งชนิดจะเรียกว่า “MultiDrug Resistant” หรือ MDR แต่ก่อนจะพูดถึงว่าทำไมเราถึงควรตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือคนทั่วไปเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ” ที่เกิดจากเชื้อโรค (ไม่นับอาการอักเสบจากกล้ามเนื้อหรือกายภาพอื่นๆ) เรื่องที่ขาดไม่ได้ที่จะเล่าให้ฟังก็คือ ความเป็นมาของยาปฏิชีวนะ
สารเพนนิซิลลินเปลี่ยนโลก
ย้อนไปสมัย Alexander Fleming นักชีววิทยาและนักเภสัชวิทยาชาวสก็อตแลนด์ (Scottish) บังเอิญค้นพบว่ารา Penicillium สร้างสารเพนนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Staphylococcus ได้
ทำให้ยาเพนนิซิลลินถูกนำไปใช้รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียได้อย่างแพร่หลาย ช่วยชีวิตผู้คนได้มากมายในสมัยนั้น ปัจจุบันจากการทดลองจากห้องแลปทั่วโลกพบว่าสารเพนนิซิลลินจากรา Penicillium นั้นไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียจำพวก Staphylococcus ได้อีกต่อไป
พฤติกรรมการใช้ยา สาเหตุหลักทำให้เชื้อดื้อยา
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่หยุดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างกระทันหัน (ทั้งๆที่ควรกินให้หมด) และคิดไปเองว่าอาการดีขึ้น น่าจะหายดีแล้ว คุณคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยา จากสถิติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center of Disease Control and Prevention) หรือ CDC ประเทศสหรัฐ ได้รายงานว่าในแต่ละปี ประชาชนชาวสหรัฐกว่า 30,000 คนเสียชีวิต และอีก 2 ล้านคนเจ็บป่วยจากเชื้อที่ดื้อยา ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่ายาที่ใช้ต้านแบคทีเรียเริ่มไม่มีผลอีกต่อไป และเป็นเรื่องที่ควรจับต่อมองอยู่ตลอดเวลา
ความหวังใหม่ของการฆ่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
ที่สิงคโปร์สถาบันชีววิศวกรรมและนาโนเทคโนโลยี (Institute of Bioengineering and Nanotechnology หรือ IBN) นักวิจัยที่นี่สามารถสังเคราะห์ยาที่ใช้ความรู้นาโนเทคโนโลยีสร้างขึ้นมา โดยตัวยาทำจากพอลิเมอร์ สามารถตรวจจับและฆ่าแบคทีเรียที่ดื้อยาอย่าง Staphylococcus aureus ได้ โดยอาศัยหลักการอันตรกิริยาไฟฟ้าสถิต หรือเรียกทับศัพท์ว่า “electrostatic interaction” โดยพอลิเมอร์จะไปทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียให้แตกออก และตายในที่สุด นักวิจัยเรียกวิธีการฆ่าเชื้อแบคทีเรียนี้ว่า “ฆ่าโดยกายภาพ” ซึ่งวิธีเก่าแก่แบบดั้งเดิมนั้น เป็นการฆ่าทางชีวภาพ แต่ยังไม่สามารถนำไปขายเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องด้วยเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนการผลิตสูง หรือแพงนั่นเอง อีกทั้งต้องทดลองซ้ำเพื่อเช็คผลให้แน่ใจว่าตัวยาจะไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์
ถึงแม้นักวิจัยจะพยายามเร่งมือเอาชนะวิวัฒนาการในการเอาตัวรอดของแบคทีเรียจากยาปฏิชีวนะอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่สิ่งที่คนทั่วไปอย่างเราๆ ทำได้ ก็คือ มีวินัยในการใช้ยาปฏิชีวนะ และตระหนักถึงภัยจากเชื้อโรคดื้อยาที่อาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนในอนาคต
วิกฤตแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดย Ramanan Laxminarayan | TED
กระบวนการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรีย | Kurzgesagt – In a Nutshell Channel
Read Original Article and More Detail & Media
“A cinematic approach to drug resistance.“. [Online]. via : news.harvard.edu 2017.
“When Bacteria Fight Back.“. [Online]. via : new.harvard.edu 2017.
“Biodegradable nanostructures with selective lysis of microbial membranes.”. [Online]. via : nature.com 2017.
“Breakthrough for MRSA treatment found.“. [Online]. via : phys.org 2017.
No Responses