Click on Bottom Article
ตั้งแต่วิชาฟิสิกส์ถือกำเนิดบนโลกของเรา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องในการใช้ชีวิตประจำวัน ผลกระทบต่างๆของเทคโนโลยี ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่างๆมากมายในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จะเห็นว่าความรู้ทางฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์สาขาใดก็ตาม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเสมอ เหมือนเส้นคู่ขนานที่ขีดเขียนไปด้วยกัน ถ้ามนุษย์มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง สิ่งที่มนุษย์คิดค้น ศาสตร์ต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ก็มีประวัติศาสตร์ของมันเช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1600 เริ่มมีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์อย่างจริง ซึ่งตรงกับช่วงที่นิโคลนัส โคเปอร์นิคัส นำเสนอแบบจำลองของเอกภพโดยใช้ข้อมูลและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของเอกภพ (ในปัจจุบันดวงอาทิตย์ไม่ใช่จุดศูนย์กลางของเอกภพ แต่เป็นแค่จุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ) และในปี ค.ศ. 1900 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของฟิสิกส์ยุคใหม่
แม้ว่าจะผ่านมานานหลายร้อยปี วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะความรู้ทางฟิสิกส์ก็ยังไม่ได้แสดงถึงจุดสิ้นสุดทั้งด้านทฤษฎี และการค้นพบต่างๆของเอกภพ เพราะการค้นพบในแต่ละครั้ง นำมาซึ่งคำถามมากมายไม่สิ้นสุด เช่น อายุของเอกภพแท้จริงแล้วมีอายุเท่าไหร่กันแน่ แม้ในปัจจุบันจะสามารถคำนวณได้คร่าวๆโดยใช้กฎของฮับเบิล (Hubble’s law) ก็ตาม หรือแม้คำถามที่ชวนให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยเกี่ยวกับธรรมชาติของสุญญากาศว่ามันมีคุณสมบัติอะไร มีตัวกลางหรือ ether อยู่จริงหรือไม่ แล้วธรรมชาติของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมล่ะ มันมีหน้าตา คุณสมบัติอย่างไร เป็นต้น
หากแบ่งช่วงการศึกษาประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์ สามารถแบ่งได้ 2 ยุคด้วยกัน ดังนี้
- ฟิสิกส์ยุคแรกเริ่ม (ยุคแห่งการตั้งคำถาม)
- ฟิสิกส์ยุคใหม่
(จุดเริ่มต้นของการศึกษาดาราศาสตร์ และแม่เหล็ก)
(ไฟฟ้า แสง กระบวนทางวิทยาศาสต์ กลศาสตร์คลาสสิก ฟิสิกส์ดาราศาสตร์)
(จุดเริ่มต้นของเทอร์โมไดนามิกส์ ธรรมชาติของไฟฟ้า)
(สิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้า แม่เหล็กไฟฟ้า พลังงาน แนวคิดเรื่องอีเทอร์ รังสีเอกซ์ ฟิสิกส์นิวเคลียร์)
(ยุคของอะตอม ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เอกภพ กลศาสตร์ควอนตัม)
ฟิสิกส์ยุคแรกเริ่ม
ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มมีการประดิษฐ์อักษร หรือยุคประวัติศาสตร์ ผู้คนก็เริ่มมีความสงสัยและความพยายามในการเข้าใจธรรมชาติต่างๆ เช่น ทำไมวัตถุจึงตกลงสู่พื้น ทำไมไม่ลอยขึ้นเมื่อโยนออกไปบ้างในบางครั้ง ทำไมวัสดุต่างชนิดกันจึงมีสมบัติต่างกัน อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น หรือสมัยที่นักคณิตศาสตร์ หรือคนส่วนใหญ่เชื่อว่าโลกมีลักษณะแบนบ้าง กลมบ้าง รีบ้าง โดยแท้จริงแล้วโลกเรามีสัณฐานแบบใดกันแน่ และพฤติกรรมของเทหวัตถุบนท้องฟ้า อย่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ มนุษย์ต่างพยายามหาคำอธิบายในแบบของตนเอง โดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ บ้างก็เชื่อว่าเป็นอภินิหารของพระเจ้า จะเห็นว่าในยุคแรกเริ่มมักมีการตั้งคำถาม ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่น่าคิดหาคำตอบ แต่การอธิบายคำตอบยังไม่แสดงถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ฟิสิกส์ยุคใหม่
ฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16
ในศตวรรษนี้ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส ได้เสนอแบบจำลองระบบของเอกภพที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้แนวคิดจาก Aristarchus
นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง เดิมทีเป็นหมอหลวงประจำพระราชินี อะลิซาเบธที่ 1 และเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ คือ วิลเลียม กิลเบิร์ต โดยท่านได้ค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแม่เหล็กและไฟฟ้า และเป็นผู้นิยามศัพท์คำว่า “Electricity” หรือ “ไฟฟ้า” นั่นเอง นอกจากนี้ยังได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือที่มีชื่อว่า “De Magnete, Magneticisque Corporibus, et de Magno Magnete Tellure” แปลได้ว่า “ว่าด้วยแม่เหล็กและวัตถุสภาพแม่เหล็ก และว่าด้วยแม่เหล็กใหญ่ของโลก” โดยเขาได้สร้างแบบจำลองลูกโลกที่มีอำนาจแม่เหล็ก เพื่อศึกษาผลของแม่เหล็กโลก ลูกโลกจำลองนี้เรียกว่า “เทอร์เรลลา” (Terrella)
จากการทดลองของเขา สรุปได้ว่า โลกก็คือแม่เหล็ก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเข็มทิศชี้ไปทางทิศเหนือ ทำให้ทำลายความเชื่อของคนสมัยนั้น ที่เชื่อว่า เข็มทิศชี้ไปหาดาวเหนือ หรือเกาะแม่เหล็กขนาดใหญทางขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นตัวดึงดูดเข็มทิศ
ฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17
ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษนี้ โจฮันเนส เคปเลอร์ ได้นำข้อมูลการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีความแม่นยำสูงของไทโค บราห์ มาวิเคราะห์ ทำให้เขาทราบว่าเดิมที่วัตถุต่างๆที่โคจรรอบซึ่งกันและกันนั้นไม่ได้เป็นวงกลมเสมอไป ซึ่งส่วนใหญ่วงโคจรจะมีลักษณะเป็นวงรี หลังใช้ความพยายามอยู่หลายปีเขาให้สรุปว่า “ดาวเคราะห์ต่างๆไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม แต่เป็นวงรีที่มีดวงอาทิตย์อยู่ตรงจุดโฟกัสจุดหนึ่งของวงรี” การค้นพบครั้งนี้ทำให้ความเชื่อนับพันปีตั้งแต่ปโตเลมีได้กล่าวไว้ว่าวงโคจรของเทหวัตถุบนท้องฟ้ามีลักษณะเป็นวงกลมสมบูรณ์ นอกจากนี้เขายังได้สรุปข้อค้นพบออกมาเป็นกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
การวัดในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดละอ่อน และควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากเครื่องมือไม่มีความละเอียด หรือความเที่ยงตรงพอก็อาจให้ผลการทดลองที่คลาดเคลื่อนได้มากทีเดียว ดังนั้นในปีค.ศ. 1631 นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส Pierre Vernier ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งที่โลกต้องขอบคุณเขา นั่นคือ เวอร์เนียร์ ซึ่งใช้วัดในงานเชิงกลได้อย่างแม่นยำและละเอียดกว่าไม้บรรทัดเป็นอย่างมาก เวอร์เนียร์ถูกใช้แพร่หลายในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นระยะเวลากว่า 380 ปีแล้ว
ในปี ค.ศ. 1656 นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ชาวดัตซ์ คริสตียาน เฮยเคินส์ ได้ประดิษฐ์ นาฬิกาเชิงกล โดยใช้ลูกตุ้มเพนดูลัม โดยแกว่งผ่านเส้นส่วนโค้งรูปวงรีที่อยู่บนพื้นราบ โดยถือเป็นยุคเริ่มต้นในการประดิษฐ์นาฬิกาให้มีความแม่นยำสูง นอกจากนี้เขายังมีผลงานในการค้นพบดาวบริวาร Titan ของดาวเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย (ดูปฏิบัติการสำรวจดาวบริวาร Titan ในปี 2024 ตามแผนการสำรวจของ NASA)
ในปี ค.ศ. 1676 Ole Romer พยายามหา อัตราเร็วของแสง เป็นครั้งแรกโดยอาศัยช่วงเวลาที่ดาวบริวาร ไอโอ (Io) เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวพฤหัสเมื่อสังเกตการณ์จากโลกโดยใช้กล้องโทรทรรศน์
ในช่วงก่อนยุคนิวตัน กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เริ่มมีการพัฒนาไปอย่างมากโดยนักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นามว่า กาลิเลโอ กาลิเลอิ โดยเขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้การทดลองเพื่อตรวจสอบทฤษฎีทางฟิสิกส์ เช่น การทดลองอันโด่งดังที่หอคอยเอนปิซา โดยเขาพยายามจะพิสูจน์ว่าวัตถุสองชิ้นที่มีมวลต่างกันเมื่อปล่อยจากที่สูงระดับเดียวกันจะตกถึงพื้นพร้อมกัน หากกระทำในที่มีเป็นสุญญากาศ เป็นต้น นอกจากนี้เขายังเป็นผู้พัฒนาสมการและได้ผ่านการยืนยันจากการทดลองหลายครั้งในเรื่อง พลศาสตร์เกี่ยวกับ การเคลื่อนที่แบบมีความเร่ง การเคลื่อนที่แบบพาราโบลา สัมพัทธภาพของการเคลื่อนที่แบบมีความเร่ง และกฎของความเฉื่อยในแบบแรกเริ่มอีกด้วย
และในช่วงท้ายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในปี 1687 ไอแซก นิวตัน ได้ตีพิมพ์ Philosophi Naturalis Principia Mathematica โดยกล่าวถึงรายละเอียดของทฤษฎี 2 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ซึ่งทำให้เกิด กลศาสตร์คลาสสิก และกฎความโน้มถ่วงของนิวตัน ซึ่งอธิบายถึงลักษณะพื้นฐานของแรงโน้มถ่วง โดยทั้งสองทฤษฎีได้รับการตรวจสอบผ่านการทดลองได้เป็นอย่างดี กฎความโน้มถ่วงได้ถูกต่อยอดไปสู่ฟิสิกส์สาขาใหม่ คือ ฟิสิกส์ดาราศาตร์ (Astrophysics) ซึ่งใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยใช้ทฤษฎีทางฟิสิกส์
ฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
คริสต์ศตวรรษที่ 18 มีความก้าวหน้าของศาสตร์หลายอย่าง เช่น เทอร์โมไดนามิกส์ ที่ถูกพัฒนาโดย โรเบิร์ต บอยล์ โทมัส ยัง และคนอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมากในสมัยนั้น
ในปี ค.ศ. 1733 แดเนียล แบร์นูลลี (Daniel Bernoulli) ได้ใช้แนวคิดเชิงสถิติกับกลศาสตร์คลาสสิกใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเทอร์โมไดนามิกส์ ทำให้เกิดสาขา กลศาสตร์สถิติ เกิดขึ้น
ในปี ค.ศ. 1746 นักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่งที่เรารู้จักกันดี คือ เบนจามิน แฟรงคลิน เขาได้ประดิษฐ์ตัวเก็บประจุเป็นคนแรก ที่เรียกว่า Leyden Jar นอกจากจะสามารถเก็บประจุได้แล้ว ยังถ่ายประจุไฟฟ้า และควบคุมปริมาณได้อีกด้วย
ราว ค.ศ. ที่ 1788 Joseph Louis lagrange ได้สร้างสมการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อวงการฟิสิกส์ คือ Calculus of variations principle of least action และสมการ Euler-Lagrange
ฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19
ในจดหมายเหตุของ Royal Society เมื่อ ค.ศ. 1800 อเลสซานโดร โวลตา ได้บันทึกไว้ว่าโวลตาได้ประดิษฐ์แบตเตอร์รี่ไฟฟ้าเป็นครั้งแรก โดยแบตเตอร์รี่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้อย่างคงที่
พฤติกรรมของไฟฟ้าและแม่เหล็กได้ถูกศึกษาค้นคว้าและมีคำอธิบายมากขึ้น เมื่อ ไมเคิล ฟาราเดย์ จอร์จ โอห์ม และ คริสเตียน เออร์สเตด ได้ค้นพบพฤติกรรมที่สำคัญต่างๆ เช่น ฟาราเดย์ค้นพบว่าไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดการเคลื่อนที่เชิงกลแบบหมุน เครื่องกลจำพวกมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า (Electric Generator)
ในปีที่ ค.ศ. 1831 ได้ค้นพบหลักของการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า โดยการเคลื่อนที่เชิงกลแบบหมุนสามารถแปลงเป็นไฟฟ้าได้
ในปี ค.ศ. 1855 เจมส์ คาร์ค แมกเวลล์ (James Clerk Maxwell) ได้รวมปรากฏการณ์สองอย่าง คือ ปรากฏการณ์ทางแม่เหล็ก และปรากฏการณ์ทางไฟฟ้า เป็นทฤษฏีเดียว คือ แม่เหล็กไฟฟ้า สามารถอธิบายโดยใช้สมการของแมกเวลล์ ทฤษฎีสามารถทำนายได้ว่า แสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการค้นพบ Hall effect ในปี ค.ศ. 1879 ทำให้ทราบว่าตัวพากระแสไฟฟ้าเป็นประจุลบ
ในปี ค.ศ. 1847 เจมส์ จูล (James Joule) ได้ตั้งกฎอนุรักษ์พลังงานเชิงความร้อนเช่นเดียวกับพลังงานกล นอกจากเจมส์ จูลก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่ได้เสนอกฎนี้เช่นกัน และในเวลาช่วงเดียวกันนั้น รูดอล์ฟ คลาวเซียสได้ให้นิยามของคำว่า เอนโทรปี และกฎข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิกส์ก็ได้ถูกตั้งขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1875
ในปี ค.ศ. 1876 ลุดวิก โบลซ์มานน์ ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนของสถานะที่เป็นไปได้ที่ระบบจะวางตัวได้กับเอนโทรปีของมัน
ในปี ค.ศ. 1878 Josiah Willard Gibbs ได้พัฒนาสูตรทางทฤษฎีเกี่ยวกับเทอร์โมไดนามิกส์
ในปี ค.ศ. 1833 กลศาสตร์คลาสสิคได้ถูกเขียนในรูปใหม่โดย วิลเลียม โรวาน แฮมิลตัน นำไปสู่สิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบัน และรู้จักกันดี คือ Hamiltonian และถูกนำไปต่อยอดในฟิสิกส์สาขากลศาสตร์ควอนตัมในศตวรรษถัดมา
ในปี ค.ศ. 1887 การทดลองของไมเคิลสัน – เมอร์เลย์ ที่หักล้างแนวคิดที่เชื่อว่าโลกเคลื่อนที่ผ่านสิ่งที่เรียกว่า อีเทอร์ ซึ่งไม่มีอยู่จริง
ในปี ค.ศ. 1887 นิโคลา เทสลาได้ค้นพบรังสีเอกซ์
ในปี ค.ศ. 1895 Wilhelm Conrad Rontgen ได้สังเกตและวิเคราะห์รังสีเอกซ์ ซึ่งพบว่าเป็นการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ความถี่สูง
ในปี ค.ศ. 1896 กัมมันตภาพรังสี ถูกค้นพบโดย อองรี เบ็กเกอเรล และได้มีการศึกษาต่อๆกันมาโดย ปิแยร์ กูรี กับ มารี กูรี และคนอื่นๆ ถือเป็นการเริ่มต้นสาขาของฟิสิกส์นิวเคลียร์
ในปี ค.ศ. 1897 โจเซฟ จอห์น ทอมสัน และฟิลิป เลียวนาร์ด ได้ศึกษา รังสีแคโทด ทอมสันได้สรุปผลการทดลองว่ามันเป็นอนุภาคประจุลบ ซึ่งเขาเรียกว่า “Corpuscles” ต่อมาจึงเรียกว่า “อิเล็กตรอน” และฟิลิป เลียวนาร์ดได้พิสูจน์ว่าอนุภาคที่หลุดออกมาจากปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กตริก เป็นอนุภาคชนิดเดียวกับในหลอดแคโทด และพลังงานของอนุภาคไม่ขึ้นอยู่กับความเข้มของแสง แต่จะขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตกกระทบบนแผ่นโลหะ
ฟิสิกส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ในศตวรรษนี้ถือเรียกว่า “ฟิสิกส์ยุคใหม่” เพราะเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาและมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติทางฟิสิกส์
ปี ค.ศ. 1904 ทอมสันได้เสนอแบบจำลองของอะตอม แบบแรกขึ้น รู้จักกันในชื่อว่า Plum Pudding Model โดยแทนลูก Plum เป็น electron และแทนปริมาตรนอกเหนือจากลูก Plum เป็นบริเวณของประจุบวกทั้งหมด ดังรูป
ปี ค.ศ. 1808 จอห์น ดอลตัน เสนอแนวคิดว่า อะตอมมีน้ำหนักต่างกันไปแต่ละชนิด
ปี ค.ศ. 1911 เออร์เนสต์ รัทเธอร์ฟอร์ด สรุปจากการทดลองการกระเจิงของแสงความเข้มสูงที่ผ่านแผ่นทองคำ ทำให้ทราบการมีอยู่ของนิวเคลียสของอะตอม ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ประกอบของอนุภาคประจุบวกที่เรียกว่า โปรตอน
ปี ค.ศ. 1913 นีล บอห์ร ได้เสนอแบบจำลองอะตอมเชิงกลศาสตร์ควอนตัม
ปี ค.ศ. 1932 เจมส์ แชดวิก ค้นพบนิวตรอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบนิวเคลียสที่เป็นกลางทางไฟฟ้า
ปี ค.ศ. 1897 การแปลงแบบลอเรนซ์ ซึ่งเป็นสมการพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพได้ถูกตีพิมพ์
ปี ค.ศ. 1899 และ 1904 Joseph Larmor กับ Hendrik Lorentz ได้แสดงว่าสมการของแมกเวลล์นั้นไม่เปลี่ยนภายใต้การแปลงแบบลอเรนซ์
ปี ค.ศ. 1905 ไอน์สไตน์ได้เขียนสูตรของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
ปี ค.ศ. 1915 ไอน์สไตน์ได้ขยายทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษเพื่ออธิบายความโน้มถ่วงทำให้เกิดทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปอันโด่งดัง และนำสู่การทำนายการเกิด Gravitational Collapse หรือหลุมดำ
ปี ค.ศ. 1915 สมการสนามของไอน์สไตน์ ถูกค้นพบโดย Karl Schwarzschild และ Roy Kerr
ปี ค.ศ. 1925 วูล์ฟกัง เพาลี ได้ตั้ง หลักการกีดกันของเพาลี และปีเดียวกัน Erwin Schrodinger ได้เขียนสูตรกลศาสตร์คลื่นซึ่งได้วางหลักการทางคณิตศาสตร์สำหรับบรรยายสถานการณ์ทางฟิสิกส์ เช่น อนุภาคในกล่อง หรือแมวที่อยู่ในกล่อง Quantum Harmonic Oscillator และเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์กก็ได้ให้หลักการทางคณิตศาสตร์ matrix mechanics ซึ่งให้ผลเดียวกับหลักการของ Schrodinger
ปี ค.ศ. 1928 พอล ดิแรก ได้สร้างสูตรเชิงสัมพัทธภาพจาก matrix mechanics ของไฮเซนเบิร์กและทำนายการมีอยู่ของ โพซิตรอน กับการค้นพบ Quantum Electrodynamics
ปี ค.ศ. 1928 ได้มีการศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมทางกายภาพของของแข็งและของเหลว รวมทั้งปรากฏการณ์เช่น การนำไฟฟ้าในโครงสร้างผลึก โดยใช้ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมมาต่อยอด ทำให้เกิดฟิสิกส์สาขา Condesed matter และสามารถอธิบายพฤติกรรมของอิเล็กตรอน การค้นพบ Fermi Surface และใช้ความเข้าใจเรื่องการกีดกันของเพาลี ทำให้เข้าใจเรื่องสมบัติการส่งผ่านในสารกึ่งตัวนำ ท้ายที่สุดทำให้เกิดการปฏิวัติทางอิเล็กทรอนิกส์ของคริสต์ศตวรรษนี้ด้วยการพัฒนา ทรานซิสเตอร์ ซึ่งมีขนาดเล็ก ทรงประสิทธิภาพ ราคาถูกลง
ปี ค.ศ. 1929 เอ็ดวิน ฮับเบิล ได้ตีพิมพ์การค้นพบของเขาว่า อัตราเร็วที่กาแล็กซีถอยห่างจากกันนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะห่างระหว่างกาแล็กซี จึงนำไปสู่ความเข้าใจว่าเอกภพกำลังขยายตัว และการที่เอกภพขยายตัวได้ เชื่อว่าเอกภพต้องเคยมีขนาดเล็กและร้อนกว่านี้ในอดีต
ปี ค.ศ. 1933 Karl Jansky ที่ Bell Labs ได้ค้นพบการเปล่งคลื่นวิทยุจากทางช้างเผือก จึงเริ่มต้นวิทยาศาสตร์ของดาราศาสตร์วิทยุ
ปี ค.ศ. 1940 จอร์จ กามอฟ ได้เสนอทฤษฎีบิกแบง
ปี ค.ศ. 1934 นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี เอนริโค เฟอร์มี ได้ค้นพบผลจากการทดลองที่ประหลาด คือ เมื่อได้ทำการชนยูเรเนียมด้วยนิวตรอน ซึ่งทำให้เขาเชื่อว่าตนได้สร้างธาตุ Transuranic
ปี ค.ศ. 1939 นักเคมี ออตโต ฮาห์น และนักฟิสิกส์ Lise Meitner ได้อธิบายปรากฏการณ์ที่เฟอร์มีค้นพบนั้นจริงๆแล้วคือกระบวนการของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน กล่าวคือ เมื่อนิวเคลียสของยูเรเนียมได้แตกตัวจะปลดปล่อยพลังงานจำนวนหนึ่ง และเป็นกระบวนการที่สามารถควบคุมพลังงานที่เกิดขึ้นได้
ปี ค.ศ. 1942 เฟอร์มีและคณะประสบความสำเร็จในการสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์โดยมนุษยชาติเป็นครั้งแรก หรือ Nuclear Reactor
ปี ค.ศ. 1945 ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกถูกจุดขึ้นที่ Trinity Site ทางเหนือของ Alamogordo, New Mexico
ปี ค.ศ. 1946 ค้นพบ Nuclear Magnetic Resonance นำมาซึ่งวิธีการใหม่ๆในการศึกษาโครงสร้างของโมเลกุลและกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมี และทำให้เกิดเทคนิคการถ่ายภาพทางการแพทย์ที่สำคัญ คือ Magnetic Resonance Imaging
ปี ค.ศ. 1947 William Shock, Walter Brattain และ John Bardeen ได้พัฒนาทรานซิสเตอร์ให้ดียิ่งขึ้นโดยมีการใช้วัตถุผสมและการย่อขนาดของแผงวงจร ทำให้หลายปีถัดมาคอมพิวเตอร์ใช้เนื้อที่น้อยลงและทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติวิถีการศึกษาทางฟิสิกส์โดยใช้ Simulation และการคำนวนทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมากยิ่งยึ้น
ปี ค.ศ. 1960 ทางการทหารของอเมริกาได้มีการใช้นาฬิกาอะตอมเพื่อสร้าง GPS หรือ Global Positioning System ซึ่งในปี ค.ศ. 1984 ได้ปล่อยดาวเทียม 24 ดวงในวงโคจรระดับต่ำรอบโลกเป็นผลสำเร็จ เพื่อวางระบบ GPS
ปี ค.ศ. 1970 ประสบความสำเร็จในการอธิบายอนุภาคมูลฐานเกือบทั้งหมด และได้มีการศึกษาเรื่องแรงพื้นฐาน
ปี ค.ศ. 1974 สตีเฟน ฮอว์คิง ค้นพบ สเปกตรัมของการแผ่รังสีระหว่างการยุบตัวของหลุมดำ
ปี ค.ศ. 1990 ได้มีความพยายามในการรวมกลศาสตร์ควอนตัมกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเพื่อให้เกิดทฤษฎีทุกสรรพสิ่ง หรือ Theory of everything ที่ช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์ทุกอย่างทางฟิสิกส์ หนึ่งในทฤษฎีที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คือ ทฤษฎีสตริง
และในช่วงท้ายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าต่างๆมากมาย หนึ่งในการค้นคว้าที่น่าสนใจและมีความสำคัญ คือ นาโนเทคโนโลยี
“Histroy of physics”. [Online]. Available : history of physics Image : wiki 2558.
หมายเหตุ – หากการแปลความมีข้อผิดพลาด เช่น ใช้คำไม่ถูกต้องหลักวิชาการ หรือ มีความผิดพลาดทางเนื้อใดๆ สามารถแจ้งมาได้ที่ thaiphysicsteacher@gmail.com
Click on Top Article